กับดักแห่งความสูญเปล่า

วานนี้ เรื่องของพรรคไทยรักษาชาติที่มีคนลุ้นกันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของ กกต.ในการยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ ทำให้ดัชนีหุ้นไทย SET ชะลอตัวไม่อาจเดินหน้าเข้าแนวต้าน 1,660 จุดไปได้


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

วานนี้ เรื่องของพรรคไทยรักษาชาติที่มีคนลุ้นกันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของ กกต.ในการยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ ทำให้ดัชนีหุ้นไทย SET ชะลอตัวไม่อาจเดินหน้าเข้าแนวต้าน 1,660 จุดไปได้

คำถามจากนี้ไป ไม่ใช่แค่ว่าพรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบจริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า ความสามารถของกลุ่มพลังในสังคมไทยในการขจัดอคติจาก “อขันติธรรมทางความเชื่อ” ได้เร็วแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากกว่าในอนาคต

ในยุโรปกลาง ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อขันติธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิรูปศาสนาของนครรัฐในซากอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และเนเธอร์แลนด์ ทำให้เกิดสงคราม 30 ปี และสงคราม 80 ปี ตามลำดับ มีคนตายและสูญเสียมหาศาล จนกระทั่งคู่ขัดแย้งอ่อนล้า เกิดเป็นสนธิสัญญาสงบศึก “เวสฟาเรีย ค.ศ. 1648″ ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มของ “โลกยุคใหม่” เป็นทางการ

ผลพวงที่สำคัญของสนธิสัญญาเวสฟาเรีย มีมากมาย แต่ที่โดดเด่นคือ คนในยุโรปในรัฐโปรเตสแตนต์สามารถศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างเสรี และลดบทบาทของศาลศาสนาที่ถือว่าวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็น “ศาสตร์ต่อต้านพระคริสต์” ลง แล้วตามมาด้วยการเผยแพร่ปรัชญาใหม่ว่าด้วยสังคม โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง สัญญาประชาคม กับ การปกครองด้วยนิติธรรม (rule of law ที่แตกต่างจากการปกครองโดยกฎหมายหรือ rule by law)

บาดแผลจากอขันติธรรมทางความเชื่อ ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในคำขวัญว่าด้วยภราดรภาพ (brotherhood) ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักประชาธิปไตยของการปฏิวัติฝรั่งเศส “เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ” ก่อนที่อับราฮัม ลินคอล์น จะมาสรุปสุดยอดหลังจากสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ที่มีเหตุจากการเลิกทาส ว่าประชาธิปไตยคือ การปกครองรัฐ “โดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน”

ประเด็นปัญหาของสังคมไทยที่ผ่านมาเกือบ 15 ปี ที่กลายเป็นสงครามสีเสื้อ และยุทธการปราบผีทักษิณอันยืดเยื้อ สะท้อนถึงอขันติธรรมทางความเชื่อที่ฝังลึก จนมีคำถามว่า การรัฐประหาร-การเลือกตั้ง จะมีประโยชน์อะไรกัน หากไม่สามารถนำสังคมก้าวข้ามสิ่งกีดขวางหลักคือ กับดักชาติรายได้ปานกลาง ที่ผสมผสานเข้ากับช่วงเวลาของการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

คำว่า กับดักชาติรายได้เป็นกลาง ได้รับการนิยามหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ใช้เกณฑ์วัดสำคัญใหม่คือค่าเฉลี่ยวัดความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ หรือ Global Competitiveness Index (GCI) ที่มีตัวชี้วัดหลายปัจจัย

จากผลการศึกษาโดยนักวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในปี 2553-2559 ค่าความสามารถในการแข่งขันของไทยเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้สูง ที่พบว่ามีหมวดที่ไทยได้คะแนนต่ำถึง 4 หมวด ซึ่งคะแนนประเมินในระดับต่ำของหมวดเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงกัน และสื่อให้เห็นถึงอุปสรรคต่อการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของประเทศรายได้สูงทั้งสิ้น

เริ่มจาก 1) ความพร้อมด้านเทคโนโลยีของไทยอยู่ในระดับปานกลาง 2) ความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เพียงพอทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ 3) ความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติ ไม่ดีนัก 4) ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับนวัตกรรมโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากค่าใช้จ่าย R&D ของไทยในปี 2558 ที่ระดับ 0.6% ซึ่งต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก

กับดักชาติรายได้ปานกลาง คือจุดที่ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจจากรายได้น้อย มาสู่ระดับที่มีรายได้มากขึ้น แต่ว่ายังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางมาค่อนข้างนานก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ยังไม่สามารถก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงเหมือนเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือว่าไต้หวัน ที่นำหน้าเรามานานแล้ว

เส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย ไม่ได้พิเศษพิสดาร เมื่อเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจ จากการเป็นประเทศรายได้น้อย ที่สามารถแปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมด้วยการเริ่มสร้างอุตสาหกรรมเบา (Light Industrial) ขึ้นมาก่อน เช่น การทอผ้า ฟอกหนัง เครื่องประดับ เป็นต้น แล้วค่อยพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต่อไปขึ้นมา

แม้ว่าตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะพัฒนามาสู่อุตสาหกรรมหนักบางส่วน แต่ส่วนมากยังเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ต่างประเทศมากกว่า มีส่วนน้อยที่สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง สินค้าส่วนมากยังไม่มีนวัตกรรมมากนัก ทำให้ขายสินค้าได้ราคาไม่สูงนัก อำนาจการต่อรองขึ้นกับคู่ค้ารายใหญ่มากกว่า ประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทยซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำลงเพราะว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

การไม่มีแบรนด์สินค้า กับนวัตกรรมที่มากพอ ทำให้เมื่อถูกเบียดขับ จากชื่อเสียงของแบรนด์ คุณภาพและนวัตกรรมของคู่แข่ง บวกกับแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้เงินลงทุนน้อย และแทบไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรเลย แต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลอย่างในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดช่องให้บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคทุ่มเพื่อแย่งตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทยกันอย่างดุเดือด (Lazada, Shopee, 11 Street เป็นต้น)

ท่ามกลางพลวัตอันรุนแรงนี้ ยังถูกซ้ำเติมจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วก่อนกำหนด ต่างจากสังคมญี่ปุ่นมาก

นอกจากนั้นยังถูกถ่วงรั้งด้วยการศึกษา เพราะพบว่า การศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยที่อยู่เพียงระดับมัธยมต้น (ประมาณ 8 ปี ในปี 2559) ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่การศึกษาเฉลี่ยอยู่ระดับมัธยมปลายขึ้นไป ทำให้พัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศเป็นไปอย่างช้า ๆ จากพื้นฐานด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เอื้ออำนวย

ท้ายที่สุด คะแนนด้านสถาบันในระดับต่ำ ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐและเสถียรภาพทางการเมืองยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง จึงส่งผลเพิ่มเติมให้การดึงดูดการลงทุนใหม่ของไทยทำได้ยากยิ่งขึ้น

บทสรุปที่น่าสนใจของงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2560 ระบุว่า ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ 3.5% ตามค่าเฉลี่ยปี 2555–2559 พบว่าไทยจะต้องอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางไปอีกกว่า 30 ปี โดยการหลบเลี่ยงจากการ “ก้าวย่ำกับที่” เพื่อก้าวพ้นกับดักให้เร็วขึ้นคือ การลงทุนที่มุ่งเน้นเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ ผ่านนวัตกรรมการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง การพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ ความเข้มข้นต่อเนื่องในการปฏิบัติอย่างจริงจัง

โจทย์ที่ยากและไร้คำตอบคือ ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐที่  “โดยคสช. ของคสช. และเพื่อ คสช.(แต่อ้างว่าเพื่อสถาบันและประชาชน)” ปัจจัยที่จะทำให้สังคมไทยเลิกก้าวย่ำกับที่ ฝ่าข้ามกับดักชาติรายได้ปานกลางไปได้เร็วกว่า 30 ปี คงต้องถามหาปาฏิหาริย์

ถ้าบังเอิญ ไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ก็คงเอวัง

อีก 30 ปี ใครจะรอไหว

 

X
Back to top button