เมื่อ TMB + TBANK = ?

คนในแวดวงการเงินยังคงหาคำตอบว่า หลังการควบรวมระหว่าง “ทีเอ็มบี” กับ “ธนชาต” แล้วธนาคารแห่งใหม่จะชื่ออะไร


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร 

คนในแวดวงการเงินยังคงหาคำตอบว่า หลังการควบรวมระหว่าง “ทีเอ็มบี” กับ “ธนชาต” แล้วธนาคารแห่งใหม่จะชื่ออะไร

ไม่เพียงเท่านั้นนะ

ประเด็นที่ต่างต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปคือ การจัดสรรในตำแหน่งผู้บริหาร

และรวมถึงพนักงานฝ่ายต่าง ๆ จะออกมาอย่างไร

ธนชาต หรือ TBANK นั้น เคยผ่านการดึงแบงก์นครหลวงไทย หรือ SCIB เข้ามาควบรวมแล้ว

ครั้งนั้น โครงสร้างของ ธนชาตกับ SCIB แตกต่างกันมาก

SCIB เป็นธนาคารเก่าแก่ บุคลากรต่างอยู่กันมานานมาก ๆ ดังนั้น “วัฒนธรรมองค์กร” แตกต่างกับธนชาต อย่างสิ้นเชิง

ธนชาต ขณะนั้น ประกอบไปด้วยบุคลากรเป็น “คนรุ่นใหม่”

แน่นอนว่า เมื่อ 2 องค์กรมาควบรวมกัน  ย่อมเกิดความแตกต่าง และต้องใช้เวลาพอสมควร เพื่อที่จะให้เกิดการผสมผสานกันของวัฒนธรรม และก็ผ่านมาได้จนถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับทีเอ็มบีกับธนชาต

ธนชาต ปัจจุบันนี้ ก็ยังคงเป็นองค์กรที่มีคนรุ่นใหม่อยู่ค่อนข้างมาก

ตามสาขาต่าง ๆ ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นใหม่จริง ๆ แนวคิดก้าวหน้า

แทบจะไม่มีคนรุ่นเก่า อายุมาก ๆ อยู่เลย

ส่วนทีเอ็มบีนั้น หลังการเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มไอเอ็นจี พร้อมกับดึง “บุญทักษ์ หวังเจริญ” จากแบงก์กสิกรไทย (KBANK) เข้ามาเป็นแม่ทัพใหญ่

คุณบุญทักษ์ ยังได้ดึงบุคลากรจากกสิกรไทย ตามมาอยู่อีกจำนวนมาก

โครงสร้างของทีเอ็มบีจึงมีส่วนผสมระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ปนกันอยู่ในธนาคาร และดูเหมือนว่าเปอร์เซ็นต์ของคนรุ่นเก่าแก่ยังมีอยู่ค่อนข้างมากกว่า

แต่เข้าใจว่า ธนชาต และทีเอ็มบี  ที่ต่างเคยผ่านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรมาแล้ว

ต่างน่าจะปรับตัวได้กับการควบรวมกันครั้งนี้

โครงสร้างเงินเดือนเป็นอีกประเด็นที่พนักงานทั้ง 2 ธนาคาร ต่างจับตาดูว่า จะเกิดการเปลี่ยนไปอย่างไร

แต่ก็ยังเชื่อกันว่า “จะไม่ลดลง” ภายใต้การปรับฐานใหม่ที่จะเกิดขึ้น

แล้วตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงล่ะ โดยเฉพาะคนที่จะนั่งเป็น แม่ทัพใหญ่ หรือ CEO

มีมุมมองจากอดีตนายธนาคารใหญ่ว่า ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารงานของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก

เช่น แบงก์กสิกรไทยมี เอ็มดีจำนวน 4 คน โดยมี “คุณปั้น” บัณฑูร ล่ำซำ คุมจากด้านบนอยู่

หรือของแบงก์ไทยพาณิชย์ ที่เพิ่งจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงาน ด้วยการมีแม่ทัพใหญ่ 4 คน และมี “อาทิตย์ นันทวิทยา” นั่งเป็น CEO หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมของทีเอ็มบี กับธนชาต

เมื่อธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้โครงสร้างการบริหารงาน อาจจะต้องถูกกระจายออกไป ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้น 2 ฝ่าย คือจาก ธนชาต และทีเอ็มบีนั้น

นั่งเป็น “แม่ทัพใหญ่” คู่กัน

ผ่านมาถึงขณะนี้ ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า การควบรวมกันของแบงก์ 2 แห่ง

ตกลงแล้ว “ใครกลืนใคร” กันแน่

หากดูจากสูตรของการควบรวม เหมือนจะเป็นฝั่งทีเอ็มบีเข้าไปกลืนธนชาต

แต่จากข้อมูลที่ได้รับ ธนาคารแห่งใหม่นั้น ยังมีสัญลักษณ์เป็น “สีส้ม” และบทบาท “ความเป็นธนชาต” ก็ยังคงอยู่ไว้ค่อนข้างมากเลยล่ะ

เรื่องของสูตรการควบรวมนั้น เช่น ราคาต้องใช้เท่าไหร่ อัตราส่วนการแลกหุ้นจะเป็นอย่างไร

รวมถึงบริษัทลูกต่าง ๆ จะบริหารจัดการแบบไหน

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ยากสำหรับบรรดาคนที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ FA

แต่ที่ยาก และชวนปวดหัวนั่นคือ

เรื่องที่เล่ามาก่อนหน้านี้ทั้งหมดนั่นแหละ

 

Back to top button