วงจรอุบาทว์ของ เจมินี่ คริกเก็ต

นสพ.ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษ ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มอนาคตของวงจรเศรษฐกิจโลกหลังจากเฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า เป็นหนึ่งในหลายตัวแปรสำคัญ ที่ส่งสัญญาณร้ายล่วงหน้า ซึ่งถือว่ากำลังจะสร้าง Minsky’s Moment ในอนาคตได้


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล 

นสพ.ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษ ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มอนาคตของวงจรเศรษฐกิจโลกหลังจากเฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า เป็นหนึ่งในหลายตัวแปรสำคัญ ที่ส่งสัญญาณร้ายล่วงหน้า ซึ่งถือว่ากำลังจะสร้าง Minsky’s Moment ในอนาคตได้

ปัจจัยอีกด้านที่สำคัญกว่าคือการผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมสถาบันการเงินของสหรัฐฯในยามที่ประเด็นเรื่องคุณภาพของสถาบันการเงินสหรัฐฯเองเข้าขั้นมาถึงระดับเปราะบางมากขึ้น

เรื่องคุณภาพของสถาบันการเงินนั้นวัดกันที่การทำ stress tests ซึ่งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นในสหรัฐฯยังถือว่าสุ่มเสี่ยงพอสมควร แต่ล่าสุด มีการยกเลิกกติกาโดยเฟดที่เคยเข้มงวดกับระดับ “qualitative” grades ออกไป ในขณะที่ Financial Stability Oversight Council ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯก็ยังทำสิ่งที่สอดรับกันคือ การยกเลิกกติกาต้องให้มีผู้ประกันความเสี่ยงของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่เข้าข่าย ใหญ่เกินกว่าจะล้ม “too big to fail”

กติกาที่เข้มงวดกับคุณภาพของสถาบันการเงิน เคยถูกนำมาใช้ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 10 ปีที่ผ่านมา การยกเลิกถือว่าเป็นการย้อนศรด้วยเจตนากระตุ้นการเติบโตต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯปัจจุบัน มีความแข็งแกร่งมากเพียงพอจะไม่กลับมาล้มเหลวอีก

การผ่อนคลายกติกาที่เข้มงวดต่อสถาบันการเงินนี้ แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤติครั้งใหม่ทันทีทันใด แต่หากพิจารณากรอบนำเสนอของไฮแมน มินสกี้ว่าด้วย “5 ขั้นตอนของวิกฤติทุนนิยม” แล้วจะพบว่า เป็นจุดเริ่มที่น่ากังวลพอสมควร

อย่างน้อยที่สุด คำเตือนของอดีตสายเหยี่ยวคนหนึ่งของเฟดที่เคยระบุว่า สิ้นปี 2560 สัดส่วนของความเสี่ยงมวลรวมต่ออัตราส่วนผู้ถือหุ้น ได้เพิ่มขึ้นจาก 7% ก่อนหน้าปี 2551 มาเป็นระดับที่อันตรายกว่าเดิมที่ 13% ก็สะท้อนว่าสถานการณ์ของสถาบันการเงินอเมริกันเริ่มหมิ่นเหม่มากขึ้น

คำเตือนนี้ อาจจะถูกหมางเมินในระยะเฉพาะหน้า เพราะความเชื่อมั่นที่ล้นเกินจากทั้งภาคการผลิต ผู้บริโภค ตลาดแรงงาน และภาคการเงิน

ความเชื่อมั่นนี้แหละที่มินสกี้เคยเตือนผ่านโมเดลของ เส้นทางสู่หายนะของ “การลงทุนแบบกาสิโน” (speculative “casino-like” investments) ก่อนนำไปสู่วิกฤติ ว่าอาจจะเป็นความเลื่อนลอย หรือ Euphoria ซึ่งเป็นระยะที่ 3 ของโมเดล

หากพิจารณา 5 ขั้นตอน จะพบว่า ประกอบด้วย 1) การเปลี่ยนทิศจากเงินฝืดมาผงกหัวขึ้น (displacement) 2) เฟื่องฟู (booming) 3) ความมั่นใจที่เลื่อนลอยครอบงำ (Euphoria) มีการเพิ่มสินทรัพย์เกินจริง 4) ทำกำไร (profit taking) 5) ตระหนกขาย (Panic) โดยที่สินทรัพย์มีมูลค่าลดลงฮวบฮาบ

คำเตือนถึงอนาคตว่าด้วยวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อส่งท้ายปี 2360 หลังจากทราบผลการตรวจสุขภาพรายไตรมาสของสถาบันการเงินทั่วโลกโดยธนาคารกลางของธนาคารกลาง (BIS) ที่เมืองบาเซิล (เจ้าของกฎบาเซิลทั้งหลายในปัจจุบัน) ได้ออกคำเตือนที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งว่า สถานการณ์ในเศรษฐกิจโลกยามนี้ เหมือนกับยุคก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงินในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งนักลงทุนเร่งมองหาผลตอบแทนสูง กู้ยืมอย่างหนักเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แม้ว่าธนาคารกลางหลายแห่งได้เคลื่อนไหวเพื่อเข้มงวดต่อการเข้าถึงสินเชื่อ

BIS กล่าวว่า ความพยายามที่ล้มเหลวของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่จะลดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กำลังก่อร่างเค้าโครงของฟองสบู่การเงินให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

คำชี้แนะจาก BIS ในการออกจากปัญหาที่ชวนสยดสยอง อยู่ที่บรรดาธนาคารกลางทั้งหลาย (โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ ECB BOJ และ PBOC ต้องพยายามหาทางปรับเปลี่ยนกระบวนการสื่อสารเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยพื้นฐาน หรือความเร็วที่พวกเขากำลังจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกระตุกให้นักลงทุนตระหนักอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะทำให้ตลาดเก็งกำไรสงบนิ่งมีเหตุมีผล ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดตลาดเก็งกำไรที่พุ่งขึ้นเกินกว่าพื้นฐาน ดังที่กำลังเกิดขึ้นหลายปีมานี้ในระหว่างที่อัตราดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ

คำเตือนของ BIS ตอกย้ำให้น้ำหนักของคำเตือนก่อนหน้าของ​ธนาคารกลางยุโรป และ บุนเดสแบงก์ของเยอรมนี ที่ย้ำถึงความเปราะบางหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาเกินจริงในบางประเทศ ความอิ่มอกอิ่มใจในกำไรจากตลาดหุ้นของนักลงทุน และการปล่อยกู้ง่ายของบางธนาคารที่พยายาม “เก็บเบี้ยไต้ถุนร้าน” จากอัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้นนานเกินเวลาปกติ

คำเตือนเหล่านี้ว่าไปแล้วไม่ต่างจากคำเตือนของ เจมินี่ คริกเก็ตในนิทานเด็ก พินอคคิโอ ที่หาคนฟังและเชื่อถือได้น้อยมาก เหตุผลเพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น หากไม่เห็นโลง ก็ยากจะหลั่งน้ำตา

Back to top button