ข้อสังเกตกรณีคดี M-150

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.62 กขค. แถลงข่าวการดำเนินการพิจารณาคดีบริษัท เอ็ม-150 จำกัด โดยให้ความเห็นว่ากระทำความผิดจริงและมีคำสั่งปรับทั้งสิ้นจำนวน 12 ล้านบาท


Cap & Corp Forum

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (“กขค.”) แถลงข่าวการดำเนินการพิจารณาคดีที่เสร็จสิ้นการพิจารณาจำนวน 3 คดี โดยมีคดีบริษัท เอ็ม-150 จำกัด เป็นหนึ่งในคดีที่ กขค. ให้ความเห็นว่ากระทำความผิดจริงและมีคำสั่งปรับทั้งสิ้นจำนวน 12 ล้านบาท ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาตรา 25(2) กระทำการแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และมาตรา 25(4) กระทำการอันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมาตรา 29 เป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

กขค. ได้ใช้อำนาจเปรียบเทียบตามมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ให้บริษัท เอ็ม-150 จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 และนายประธาน ไชยประสิทธิ์ ในฐานะกรรมการบริษัทฯ ผู้ต้องหาที่ 2 รับผิดเป็นจำนวนเงินรายละ 6 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12 ล้านบาท โดยผลของมาตรา 79  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายกำหนดให้ กขค. มีอำนาจเปรียบเทียบได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการต่อการบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่เป็นรอยต่อระหว่างกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ ดังนี้

ประการแรก ฐานความผิดและการกำหนดโทษ

ตามตารางเปรียบเทียบจะเห็นว่ามาตรา 25 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และมาตรา 50 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560  การกระทำ/พฤติกรรมของบริษัท เอ็ม-150 จำกัด ก็อาจเป็นความผิดได้ทั้งสิ้น เนื่องจากกฎหมายในส่วนนี้มิได้มีการแก้ไข อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในส่วนบทกำหนดโทษจะพบว่ามาตรา 51 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และมาตรา 72 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดโทษไว้ต่างกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 กำหนดว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว

ตามข้อเท็จจริงที่ กขค. เผยแพร่ อ้างว่าบริษัท เอ็ม-150 จำกัด มีอำนาจเหนือตลาดจากการที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 50 และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมามากกว่า 1 พันล้านบาท หากถูกเปรียบเทียบปรับตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ก็อาจต้องชำระค่าปรับขั้นสูงจำนวน 100 ล้านบาท (ร้อยละ 10 ของหนึ่งพันล้าน) ดังนั้น อัตราโทษปรับขั้นสูงตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 จึงต่ำกว่าพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จึงเป็นการถูกต้องที่ กขค. จะต้องใช้อัตราโทษสูงสุดตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ร้ายแรงมากถึงขนาดที่จะถูกกำหนดอัตราโทษปรับสูงสุด 6 ล้านบาทหรือไม่ต่อกรณีการกระทำของบริษัท เอ็ม-150 จำกัด และในส่วนความรับผิดของกรรมการนั้น มาตรา 54 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ได้ถูกยกเลิกไปโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วอีกด้วย

ในทางทฤษฎีของหลักการบังคับใช้โทษปรับอย่างมีประสิทธิภาพนั้น หากผู้กระทำความผิดยินดีให้ความร่วมมือ รับสารภาพ หรือทำให้ลดขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมลง รัฐก็พึงที่จะลดสัดส่วนโทษลงมาทั้งนี้เพื่อลดปริมาณคดีที่จะต้องฟ้องต่อศาล ลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรม สร้างแรงจูงใจให้ผู้กระทำผิดในการให้ความร่วมมือและทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ประการที่สอง บริษัท เอ็ม-150 จำกัด มีอำนาจเหนือตลาดจริงหรือไม่

การมีอำนาจเหนือตลาดเป็นองค์ประกอบสำคัญของการบังคับใช้บทบัญญัติในมาตรา 25 หรือมาตรา 50 ข้างต้น โดยก่อนที่จะพิจารณาว่ามีการกระทำที่กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดหรือไม่ กขค. ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าบริษัท เอ็ม-150 จำกัด มีอำนาจเหนือตลาด เพราะหากไม่มีอำนาจเหนือตลาด ก็ไม่อาจกระทำความผิดตามมาตรานี้ได้

ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งหรือหลายรายในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ โดยให้พิจารณาสภาพการแข่งขันของตลาดด้วย ซึ่งในส่วนสภาพการแข่งขันของตลาดนี้ กขค. ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด

ประการที่สาม ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ๆ หรือผู้บริโภคสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำผิดครั้งนี้ของบริษัท เอ็ม-150 จำกัด ได้หรือไม่

เมื่อ กขค. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บริษัท เอ็ม-150 จำกัด ต้องรับผิดต่อพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ โดยหลักการของพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 บริษัทที่เป็นคู่ค้าที่ได้รับความเสียหาย ผู้บริโภค หรือสมาคมผู้บริโภค ย่อมสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 69  ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำการฝ่าฝืนนั้นได้ โดยในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย ต้องกระทำภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายรู้หรือควรจะได้รู้ถึงเหตุดังกล่าว

หรือผู้บริโภคอาจใช้สิทธิฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อเรียกค่าเสียหายจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็ยังอาจทำได้เลยครับสำหรับกรณีลักษณะนี้

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

X
Back to top button