สัญญาณร้าย หุ้นชิ้นส่วนรถยนต์

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์มีสภาพไม่ต่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ ต้องนอนรักษาตัวในห้องไอซียู...เห็นได้จากโรงงานหลายแห่งต้องหยุดผลิตชั่วคราว บางแห่งก็ต้องปิดกิจการไปเลย เนื่องจากกำลังซื้อหดหาย จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มิหนำซ้ำยังถูกซ้ำเติมจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลาย ๆ ประเทศ เพื่อหนีการแพร่ระบาดของไวรัสวายร้ายโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้


สำนักข่าวรัชดา

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์มีสภาพไม่ต่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ ต้องนอนรักษาตัวในห้องไอซียู…เห็นได้จากโรงงานหลายแห่งต้องหยุดผลิตชั่วคราว บางแห่งก็ต้องปิดกิจการไปเลย เนื่องจากกำลังซื้อหดหาย จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มิหนำซ้ำยังถูกซ้ำเติมจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลาย ๆ ประเทศ เพื่อหนีการแพร่ระบาดของไวรัสวายร้ายโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้

ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ยอดการส่งออกรถยนต์เดือนมี.ค. 2563 อยู่ที่ 89,795 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 23.71% โดยเป็นการลดลงเกือบทุกตลาดทั้งในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรป

ส่วนมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 49,112 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 17.85%

ขณะที่การส่งออกรถยนต์ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2563) มียอดรวมทั้งหมด 250,281 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.53% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 128,848 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.90%

ไม่ต่างจากยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน มี.ค. 2563 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 60,105 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 41.74% และลดลง 11.96% จากเดือน ก.พ. 2563

ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ รวมทั้งสิ้น 200,064 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.09%

สอดคล้องกับภาษีรถยนต์เดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 8,489.88 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 35.26%

ทั้ง 3 ปัจจัย สะท้อนไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ หรือกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ ยอดขายก็จะหายไปอย่างมีนัยสำคัญ เป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจ

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจรตั้งแต่ถังน้ำมัน โครงช่วงล่างรถกระบะ ชิ้นส่วนโลหะตีอัดขึ้นรูป ชิ้นส่วนรถยนต์ปั๊มขึ้นรูป ชิ้นส่วนและถังน้ำมันพลาสติก เป็นต้น ซึ่งปีที่ผ่านมาผลประกอบการพลิกมาขาดทุน 181 ล้านบาท จากรายได้รวม 19,428 ล้านบาท ปีนี้ก็คงดูไม่จืด…

ฟากบริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์ ได้แก่ หลอดไฟ ชุดโคมไฟ และแม่พิมพ์ ก็คงได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน…

บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถบรรทุกและอุตสาหกรรมเครื่องยนต์การเกษตร โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ประกอบยานยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และบริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) หรือ IHL ผู้ผลิตชิ้นส่วนประดับยนต์ โดยเฉพาะเบาะหนังแท้-หนังเทียม-แผ่นปูในรถ และสีรถยนต์ ก็คงตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ ไม่ต่างจากเจ้าอื่น ๆ

ส่วนบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG นี่อาจโชคดีหน่อย ตรงที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนตกแต่งรถยนต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า AEROKLAS  เช่น พื้นปูกระบะ หลังคารถกระบะ ฝาครอบรถกระบะ บันไดข้างรถ เป็นแค่เซ็กเมนต์หนึ่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

แต่ในส่วนของธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ยี่ห้อ EPP ได้ประโยชน์จากราคาปิโตรเคมีที่ลดลง ก็คงพอชดเชยกันได้บ้างไม่มากก็น้อย…

น่าจับตา แต่ละบริษัทจะรับมือกับสัญญาณอันตรายนี้อย่างไร..?

นี่ไม่นับรวมเรื่องเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่แนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ที่เป็นหนามทิ่มแทงกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์

เรียกว่า นาทีนี้แทบจะไม่เห็นปัจจัยเชิงบวกของหุ้นกลุ่มนี้เลย…

ก็น่าคิดว่า นักลงทุนยังควรเหยียบคันเร่งเข้าใส่หุ้นชิ้นส่วนรถยนต์ หรือต้องใส่เกียร์ถอยกันแล้ว…งบไตรมาส 1/2563 ที่จะประกาศเร็ว ๆ นี้ น่าจะเป็นคำตอบ

…อิ อิ อิ…

Back to top button