ชอร์ตเซล-ซิลลิ่ง & ฟลอร์

ล่าสุด วานนี้ (21 ก.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) แจ้งข่าวกลับไปใช้เกณฑ์ปกติ ทั้ง ชอร์ตเซล-ซิลลิ่ง & ฟลอร์


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ล่าสุด วานนี้ (21 ก.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) แจ้งข่าวกลับไปใช้เกณฑ์ปกติ ทั้ง ชอร์ตเซล-ซิลลิ่ง & ฟลอร์

มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 หลังสิ้นสุดเกณฑ์ชั่วคราว 30 กันยายน 2563

“ชอร์ตเซล” ใช้ราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Zero Plus Tick) “ซิลลิ่ง & ฟลอร์” +/- 30%

ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ใช้เกณฑ์ปกติการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขายสูงสุดในแต่ละวัน (Daily Price Limit) +/- 30%

ก่อนหน้านี้ ตลท.ออกมาส่งสัญญาณแบบมีนัยว่าจะ “ไม่ต่อ” การใช้เกณฑ์ชั่วคราวนี้ เว้นแต่ตลาดหุ้นจะมีความ “ผันผวนมาก” ก็พร้อมที่จะต่ออายุออกไปอีก

การประกาศกลับมาใช้เกณฑ์ปกตินี้

จึงเท่ากับว่า ตลท.มองตลาดหุ้นเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หรือมีความผันผวนไม่มากแล้วล่ะ

ทว่าประเด็นที่นักลงทุนกังวล คือ จะทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงไปหนักหรือไม่

เท่าที่ถามความเห็นนักวิเคราะห์ ก็มองว่า อาจจะทำให้เกิดการ “เปิดสถานะชอร์ต” มากขึ้น หากมีการมองว่าหุ้นจะปรับลงมาค่อนข้างมาก และไม่อยากให้นักลงทุนกังวลมากเกินไป

หากอยากรู้ว่าเมื่อกลับมาใช้เกณฑ์ปกติ แล้วหุ้นจะเป็นอย่างไร

ก็ให้ลองนึกถึงตอนที่ใช้เกณฑ์ปกติก่อนหน้านี้ ซึ่งก็จะเป็นแบบนั้นนั่นแหละ

อีกประเด็นที่มีนักลงทุนถามเข้ามาเรื่องของ Circuit Breaker หรือหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว

เกณฑ์ใหม่การใช้ Circuit Breaker เริ่มใช้พอ ๆ กับเรื่องของ ชอร์ตเซล-ซิลลิ่ง & ฟลอร์ ที่มีปัจจัยมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และทำให้ตลาดหุ้นผันผวนสูงช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2563

ทำให้ ตลท. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ Circuit Breaker จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับ

นั่นคือ ระดับที่ 1 หากดัชนีปรับตัวลดลง 8% หยุดพักการซื้อขาย 30 นาที

และหลังเปิดซื้อขายรอบใหม่ หากดัชนียังลงไปอีกจนแตะ 15% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที

และหากดัชนีปรับตัวลงไปที่  20% หยุดพักการซื้อขาย 60 นาที แล้วจะเปิดให้ซื้อขายจนถึงเวลาปิดทำการปกติ

เกณฑ์ Circuit Breaker ใหม่นี้ ช่วงประกาศใช้ครั้งแรก เป็นการใช้ “หลักเกณฑ์ชั่วคราว” ตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563

แต่ต่อมา ตลท. บอกว่า เพื่อผู้ลงทุนมีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น

อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

จึงใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวแบบ “ถาวร” ไปเลย

ส่วนทิศทางตลาดหุ้นวันนี้

นักวิเคราะห์มองว่า อาจจะมีความผันผวนจากการกลับไปใช้เกณฑ์เก่าบ้างในแง่ของการ “เปิด” และ “ปิด” สถานะชอร์ต

หลังจากนั้น เกณฑ์เก่าที่ว่านี้ ก็จะไม่ได้มีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นอีก

ส่วนหากวันนี้หุ้นปรับลง จะมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก หรือต่อเนื่องมาจากวานนี้ที่ตลาดหุ้นไทยร่วงตามตลาดหุ้นเอเชีย ยุโรป

ส่วนดาวโจนส์ฟิวเจอร์ส ตอนเขียนต้นฉบับ

ลงไปแล้วกว่า 500 จุด ร่วงเกือบ 2%

ปัจจัยที่หุ้นต่างประเทศลงหนักมาจาก ข่าวธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี

และส่งผลให้เกิดการโยกเงินจาก “สินทรัพย์เสี่ยง” แล้วหันไปถือ “เงินดอลลาร์สหรัฐ”

ธนาคารที่ถูกกล่าวนี้ มีข่าวว่า มีธนาคารของประเทศไทยอยู่ด้วย 4 แห่ง

เป็นของเอกชน 1 แห่ง และรัฐบาล 1 แห่ง

ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงกันระนาวในช่วงการเปิดตลาดภาคบ่าย

ประเด็นข่าวนี้ถือว่าใหญ่พอสมควร และต้องติดตามต่อไปว่า ระบบสถาบันการเงินเหล่านั้นจะถูกตรวจสอบอย่างไร

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่า แนวรับ 1,250 จุด น่าจะเอาอยู่

ส่วนของ บล.โนมูระฯ มองกรณีแย่สุดอยู่ที่ 1,220 จุด

พร้อมกับให้จับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ในประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ

Back to top button