BJC รอรับใช้สอยฟื้น

บรรยากาศโค้งสุดท้ายของปีเป็นช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย การเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการ BJC ฟื้นตัวขึ้นได้


คุณค่าบริษัท

บรรยากาศในช่วงโค้งสุดท้ายของปี เป็นการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย การเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนที่จะมีมากขึ้น รวมถึงได้รับประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น “ช้อปดีมีคืน” อาจเป็นตัวกระตุ้นเพิ่มยอดขายยัง บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ที่จะทำให้ผลประกอบการฟื้นตัวขึ้นได้ในไตรมาส 4 ปี 2563

ประกอบกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์และค้าปลีกสมัยใหม่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ราว 14% ของยอดขาย เนื่องจากทาง BJC มียอดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระป๋องให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่คือสินค้ากาแฟกระป๋อง และเบียร์ไซส์ขนาด 500 มิลลิลิตร ซึ่งยังสามารถเติบโตได้ดี

ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระป๋องในเวียดนามฟื้นตัวขึ้นหลังจากจากได้รับผลกระทบจาก second wave ของโควิด-19 ในไตรมาส 3/2563 อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการปรับปรุงการผลิตและควบคุมต้นทุน

ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากกลุ่มเครื่องดื่มวิตามินและสินค้าแอลกอฮอล์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แต่อัตรากำไรขั้นต้นจะถูกกระทบเล็กน้อยจากการปิดซ่อมเตาเผาซึ่งเป็นไปตามแผนเป็นเวลา 2 เดือนในไตรมาส 4/2563

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ราว 67% ของยอดขาย โดยการเติบโตของรายได้ต่อสาขาเดิม (SSSG) ในเดือนตุลาคมคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ -14-16% ดีขึ้นมาจาก -17.8% ในไตรมาส 3/2563 และเริ่มมีสัดส่วนสินค้ากลุ่มแฟชั่นที่มีอัตรากำไรสูงเข้ามาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งคาดอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาสสี่ฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ 18.9% จาก 9 เดือนแรกปี 2563 ที่ 18.7%

ด้านภาพรวมของ BJC ในปี 2563 ทางบล.เคทีบี ปรับกำไรสุทธิลงเล็กน้อย 4% การฟื้นตัวของ BJC ค่อนข้างใช้เวลา เนื่องจากยังต้องค่อย ๆ ปรับและบริหาร product mix

ดังนั้น มีการปรับประมาณกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 4.1 พันล้านบาท ลดลง 44% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการคาดว่า SSSG ของ BIG C จะยังอยู่ระดับติดลบ 16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดีผลประกอบการจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4/2563 จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย

นอกจากนี้ในปี 2564 คาดว่าบริษัทจะมีกำไร 4.9 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) เพราะกำลังซื้อมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการจัดเตรียมงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจเวชภัณฑ์ อีกทั้งคาดว่าการท่องเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ดี ผลดังกล่าวจากการประเมินทำให้ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 43 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 2,645,730,550 หุ้น 66.02%
  2. UBS AG SINGAPORE BRANCH 222,000,000 หุ้น 5.54%
  3. DBS BANK LTD 157,094,900 หุ้น 3.92%
  4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 113,219,794 หุ้น 2.83%
  5. บริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จำกัด 77,596,400 หุ้น 1.94%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัท, ประธานกรรมการบริหาร
  2. คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการบริษัท
  3. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช รองประธานกรรมการบริษัท
  4. นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่, กรรมการ
  5. นายธีรศักดิ์ นาทีกาญจนลาภ กรรมการ

Back to top button