SAM เน่าก่อนเข้าตลาด

ข่าวความเน่าเฟะของ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท  จํากัด (บสส.) หรือ SAM ที่กำลังถูกตั้งคำถามจากผู้บริหารของ ธปท. ทำให้นอกจากความคาดหวังว่ารัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 นี้ จะช่วยแก้ปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯ แบบเดียวกันกับ BAM หรือ ได้แค่ไหนแล้ว ยังตัดโอกาสที่บริษัทนี้จะสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถ “ถอนทุนคืน” ในปีหน้านี้ได้หรือไม่


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ข่าวความเน่าเฟะของ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท  จํากัด (บสส.) หรือ SAM ที่กำลังถูกตั้งคำถามจากผู้บริหารของ ธปท. ทำให้นอกจากความคาดหวังว่ารัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 นี้ จะช่วยแก้ปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯ แบบเดียวกันกับ BAM หรือ ได้แค่ไหนแล้ว ยังตัดโอกาสที่บริษัทนี้จะสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถ ถอนทุนคืน ในปีหน้านี้ได้หรือไม่

หากย้อนรอยเรื่องในอดีตจะพบว่าภายหลังการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศในปี 2540 SAM ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรับพันธกิจสำคัญคือ การบริหาร หนี้ด้อยคุณภาพ NPL ในระบบสถาบันการเงินของประเทศ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ สามารถดำรงธุรกิจและดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

พร้อมเดียวกัน  SAM ก็มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพย์สิน รอการขาย NPA (Non-Performing Asset) เช่น อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างที่สร้างค้างและถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไปได้

ที่แน่นอนคือ ภารกิจ บรรเทาทุกข์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ดังกล่าว ต้องทำกำไรมหาศาลพร้อมไปด้วยโดยเฉลี่ยแล้วอัตรากำไรสุทธิน่าจะเฉลี่ยใกล้เคียงกับ BAM คือ 25-30% สำหรับแต่ละดีล

จากประวัติที่เป็นทางการ SAM นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ได้ดำเนินการซื้อ NPL และ NPA จากสถาบันการเงินอื่นเพื่อมาบริหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ประมูลซื้อ NPL และ NPA จาก บสท. ในปี 2555 แล้วเริ่มขยายงานไปทั่วประเทศ ด้วยการทยอยเปิดที่ทำการสำนักงานสาขารวม 4 สาขา คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก

หากไม่มีปัญหาอะไร SAM น่าจะเข้าระดมทุนจดทะเบียนเพื่อหาทุนกลับคืนให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ในปีหน้า แต่บังเอิญเกิดความผิดปกติขึ้นมาเสียก่อน เพราะล่าสุด คนของธปท.ได้ส่งทีมเข้าตรวจสอบ SAM หลังพบความผิดปกติในการขายลูกหนี้ NPL พร้อมกับย้ำว่าจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดจนถึงที่สุด

เริ่มจากนาย รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ของ ธปท. และกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ออกมาเปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นได้รับรายงานจากคณะกรรมการของ SAM ในเรื่องการพบธุรกรรมที่ผิดปกติของ SAM เกี่ยวกับการปรับปรุงสินทรัพย์รอการขายและการขายลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมทั้งการดำเนินการของ SAM เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อบริษัท

ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบที่มีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบเกินกว่า 30 ปี จำนวน 4 คน ถูกส่งเข้าเป็นอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยการตรวจสอบมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากพบเหตุกระทำความผิดจะดำเนินการให้ถึงที่สุด

ระหว่างนี้ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ตัดสินใจเพิ่มจำนวนกรรมการของ SAM อีก 1 คน และให้เร่งรัดกระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการทดแทน โดยให้มีรักษาการกรรมการผู้จัดการไปพลาง ๆ

ความผิดปกติของธุรกรรมด้านการขาย NPA และ ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) คือปัญหาธรรมาภิบาลที่ชัดเจน เรียกง่าย ๆ เป็นภาษาชาวบ้านคือ มีการส่งสัญญาณทุจริตหรือ ผลประโยชน์ทับซ้อนในการจัดการหนี้ทั้งที่เป็น NPL และ NPA นั่นเอง

คำถามคือการทุจริตภายในที่เกิดขึ้น เกิดจากระบบหละหลวม หรือ เกิดจากตัวบุคคล

ถ้าเป็นอย่างหลังก็คงง่ายในการให้คำอธิบายต่อนักลงทุน หรือก.ล.ต.และตลท.ได้ว่า ปัญหาดังกล่าวไม่มีความเสียหายมากนัก สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าเป็นอย่างแรก…โอกาสในการเข้าระดมทุนในตลาดของ บสส.หรือ SAM ที่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบเพื่อ “ถอนทุน” (จากการขายหุ้นสามัญออกใหม่ (IPO) พร้อมกับหุ้นเดิมที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ ควบคู่กันไป) คงไม่ง่ายนัก

จะบอกว่า เป็นโชคดีที่ความเน่าเฟะในการบริหารจัดการของบสส.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเกิดอาการ “ฝีแตก” ก่อนการระดมทุนในตลาดหุ้น ก็คงไม่ใช่

การที่บริษัทซึ่งรับบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่าในมือกว่า 2.4 แสนล้านบาทและมักจะมีข่าวด้านบวกเสมอมากับแคมเปญการขายสินทรัพย์ในมือออกได้ในราคาที่มีกำไรสูง อย่างประสบความสำเร็จ เนื่องจากข้ออ้างว่า “…มีการวางแผนที่ดี ผู้บริหาร และพนักงานที่ตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มกำลังแล้ว การจัดโปรโมชั่นก็ช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี …” อันซ้ำซาก เกิดทำให้มีคำถามถึงความไม่โปร่งใสในธุรกรรม ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

คำถามจากนี้ไปคือจะรอให้ถั่วงาไหม้เกรียมเสียก่อน หรือจะสร้างความชัดเจนในเวลาอันรวดเร็ว เป็นคำถามที่น่าหนักอกสำหรับผู้บริหารคนที่จะมารับหน้าเสื่อ “กำจัดสิ่งปฏิกูล” ให้หายเน่าเหม็น

ไม่อย่างนั้น ราคาหุ้น IPO ที่จะนำออกขาย คงหาคนซื้อยากพอสมควร อาจจะกลายเป็นหุ้น หมาเมินได้ไม่ยาก

Back to top button