การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงาน

DPIA จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนายจ้างในการตรวจสอบความจำเป็น ความเหมาะสม และความได้สัดส่วนในการใช้มาตรการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร


Cap & Corp Forum

ในปัจจุบัน แม้ว่านายจ้างหรือผู้ว่าจ้างมีเครื่องมือหลายอย่างในการตรวจสอบและติดตามการทำงานของลูกจ้างหรือผู้รับจ้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของการจ้างหรือไม่ แต่ในยุคที่กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น “การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงาน” โดยการใช้ระบบกล้องวงจรปิดหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ก็อาจจำเป็นต้องมีการทบทวนถึงความชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งในยุโรปมีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานหลาย ๆ คดีที่อาจนำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ โดยสองกรณีศึกษาที่ผู้เขียนจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ เป็นคดีที่ตัดสินโดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights, “ECtHR”) ตามมาตรา 8 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights, “ECHR”) เรื่องสิทธิในความเป็นส่วนตัว

คดี Antovic and Mirkovic v. Montenegro

ข้อเท็จจริงในคดีนี้สืบเนื่องจากการที่ School of Mathematics ติดระบบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของคณะ ซึ่งรวมถึงห้องที่ใช้ในการทำการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและการประเมินการสอน อาจารย์สองคนซึ่งสอนอยู่ในคณะดังกล่าว จึงได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่าการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำโดยปราศจากความยินยอมของอาจารย์ทั้งสองคนในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ข้อมูลระหว่างการสอนถูกบันทึก

ในคดีนี้ศาลได้ตัดสินว่าการติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องเรียนเพื่อการติดตามการสอนและประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์ผู้สอนเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของอาจารย์ทั้งสองคน ซึ่งขัดต่อ ECHR มาตรา 8 และแม้จะเป็นการบันทึกในที่สาธารณะและระหว่างการทำงาน บุคคลก็สามารถมีชีวิตส่วนตัวได้ และสิทธิดังกล่าวพึงได้รับการเคารพเช่นกัน และคณะสามารถใช้วิธีการอื่นที่ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของบุคคลน้อยกว่านี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพย์สินและประเมินการสอน

คดี Barbulescu v. Romania

ข้อเท็จจริงในคดีนี้พนักงานฝ่ายขายของบริษัทแห่งหนึ่งถูกบริษัทตรวจสอบการใช้ Yahoo Messenger ที่ถูกสร้างบัญชีผู้ใช้ขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการขายของบริษัทบนอุปกรณ์สื่อสารของบริษัท และตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท ห้ามไม่ให้พนักงานใช้อุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวในเรื่องส่วนตัว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบริษัทได้แจ้งเรื่องการเฝ้าติดตามพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวแก่พนักงานโดยตรง แต่จากจดหมายเวียนของบริษัทมีการแจ้งถึงประเด็นเรื่องการเฝ้าติดตามพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารโดยทางอ้อม

ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทได้บันทึกบทสนทนาของพนักงานฝ่ายขายคนดังกล่าวชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่เขาปฏิเสธว่าไม่เคยใช้อุปกรณ์สื่อสารของบริษัทในเรื่องส่วนตัว บริษัทจึงพิมพ์บทสนทนาดังกล่าวระหว่างเขาและคู่หมั้นและน้องชายของเขาออกมาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่บริษัทกล่าวอ้าง

คดีนี้ศาลตัดสินว่าบริษัทไม่สามารถจำกัดสิทธิในชีวิตส่วนตัวและการติดต่อสื่อสารเรื่องส่วนตัวของพนักงานในช่วงเวลาทำงานจนกระทั่งไม่มีเลย และการจำกัดสิทธิในชีวิตส่วนตัวดังกล่าวต้องกระทำอย่างจำเป็น มีการแจ้งอย่างเหมาะสม และไม่ก้าวล่วงสิทธิเกินสมควร

จากกรณีศึกษาของ ECtHR ข้างต้นและคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจสรุปได้ว่าการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องถูกใช้อย่างระมัดระวังและภายใต้กรอบของเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้

  1. มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและชอบด้วยกฎหมาย อาทิ เพื่อปกป้องทรัพย์สินขององค์กร หรือเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
  2. เป็นมาตรการที่ได้สัดส่วน กล่าวคือ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 1. บริษัทสามารถใช้มาตรการอื่นที่อาจจะละเมิดความเป็นส่วนตัวน้อยกว่ามาตรการที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานเลย อาทิ การใช้วิธีการสุ่มเลือกเป็นบางครั้งคราวได้หรือไม่ (แทนการติดตามสอดส่องตลอดเวลา) สามารถกำหนดช่วงระยะเวลาที่จำกัดได้หรือไม่ จำกัดในเชิงพื้นที่หรือเฉพาะกลุ่มคนได้หรือไม่ หรือจำกัดจำนวนของผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานได้หรือไม่ เป็นต้น
  3. ถ้าการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานนั้นเป็นไปเพื่อการบังคับให้เป็นไปตามนโยบายหรือข้อบังคับที่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัท บริษัทต้องมีการสื่อสารถึงนโยบายหรือข้อบังคับนั้นให้แก่พนักงานทุกคนทราบด้วย
  4. ต้องแจ้งให้พนักงานที่ถูกเฝ้าติดตามพฤติกรรมทราบถึงการดำเนินการดังกล่าว และทราบถึงเครื่องมือและวิธีการที่ใช้ รวมทั้งผลกระทบและเหตุผลของการมีมาตรการเหล่านั้น

จากกรณีศึกษาข้างต้น เมื่อพิจารณาตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานอาจจะมีผลต่อการจ้างงาน การพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน หรือการถูกลงโทษและอาจกระทำโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (automated profiling) ดังนั้น นายจ้างจึงอาจมีความจำเป็นต้องจัดทำการประเมินผลกระทบด้านความเป็นส่วนตัว (privacy impact assessment) หรือ “การประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” (data protection impact assessment, DPIA) ซึ่ง DPIA จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนายจ้างในการตรวจสอบความจำเป็น ความเหมาะสม และความได้สัดส่วนในการใช้มาตรการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพนักงานในองค์กรต่อผลกระทบด้านสิทธิและเสรีภาพของพนักงาน อันจะเป็นการช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพนักงานในองค์กรอีกด้วย

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ชิโนภาส อุดมผล

Optimum Solution Defined (OSD)

Back to top button