หุ้นยานยนต์รับอานิสงส์ ‘ยอดส่งออก-ขายในประเทศ’ เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น

ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนมีนาคม 2564 ส่งออกได้ 104,506 คัน เพิ่มขึ้น 16.38% จากเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 31.50% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงสุดในรอบ 24 เดือน


เส้นทางนักลงทุน

สืบเนื่องจากวันที่ 27เม.ย.ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนมีนาคม 2564 ส่งออกได้ 104,506 คัน เพิ่มขึ้น 16.38% จากเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 31.50% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงสุดในรอบ 24 เดือน

โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจและยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้าในเดือนมีนาคมเติบโตจากมีนาคมปีที่แล้ว เช่น ออสเตรเลีย โต 22%, นิวซีแลนด์ โต 86%, เวียดนาม โต 58%, อินโดนีเซีย โต 10%, มาเลเซีย โต 200% และยุโรป โต 87% เพราะปีที่แล้วยอดขายรถยนต์ในยุโรปต่ำที่สุดในรอบ 30 กว่าปี ทำให้ประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปในตลาดออสเตรเลียและโอเชียเนียเพิ่มขึ้นจากมีนาคมปีที่แล้ว 48.16% ส่วนตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น 46.40% และตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น 53.93%

นอกจากนี้ การส่งออกเครื่องยนต์สันดาปภายใน ชิ้นส่วนรถยนต์ก็เพิ่มขึ้นตามการเปิดสายการผลิตของประเทศคู่ค้าด้วย

ขณะที่การส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 258,108 คัน โดยส่งออกเพิ่มขึ้น 3.13% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 มูลค่าการส่งออก 143,081.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.05%

สำหรับยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2564 มีทั้งสิ้น 162,515 คัน เพิ่มขึ้น 10.70% จากเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 4.71% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยยอดการผลิตเพิ่มขึ้นจากการผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกที่เพิ่มขึ้น 23.71% จากมีนาคม 2563 การผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้น 14.78% รถพีพีวี เพิ่มขึ้น 130.17% และรถบรรทุกเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้น 37.06%

ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในไตรมาสแรกปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 465,833 คัน เพิ่มขึ้น 2.68% จากไตรมาสแรกปี 2563 ส่วนด้านยอดขายภายในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 74,925 คัน เพิ่มขึ้น 25.47% จากเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 26.01% จากเดือน ก.พ. 2564 จากการเร่งส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าที่จองในงานมอเตอร์โชว์ที่จัดขึ้นตามปกติในปีนี้ เพื่อใช้เดินทางในช่วงสงกรานต์ที่ปีนี้เดินทางได้ ประกอบกับรัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อด้วย “คนละครึ่ง” อย่างต่อเนื่อง ราคายางพารายังดีอยู่ ส่งผลให้รถยนต์นั่ง รถพีพีวี และรถบรรทุก ขายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สถานการณ์ในเดือน มี.ค. ดีขึ้นทั้งการผลิต ยอดขายในประเทศ และการส่งออก จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า คิดว่าปีนี้ทั้งยอดขายในประเทศจะเกินเป้า 7 แสนคัน และยอดส่งออกจะเกินเป้า 7.5 แสนคัน มูลค่าส่งออกแตะ 1 ล้านล้านบาท จะกลับมาอีกครั้ง หลังจากปีก่อนหายไป 3 แสนล้านบาท แต่ยังไม่ปรับเป้า ขอรอดูอีก 1-2 เดือน เพราะยังห่วงเรื่องโควิดและปัญหาขาดแคลนชิพ

อย่างไรก็ตาม จากยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 มองเป็นบวกต่อบริษัทเกี่ยวกับยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนยานยนต์นั่นเอง เบื้องต้นหุ้นที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT, บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY และบริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO เป็นต้น

ส่วนหุ้นกลุ่มยานยนต์ยังมองเป็นดาวเด่น คือ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ทาง บล.เคจีไอ ประเมินว่ายอดขายในไตรมาส 1/2564 จะอยู่ที่ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ดีกว่ายอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยที่คาดอยู่ที่ประมาณ 450,000 คันในไตรมาส 1/2564 ทรงตัวจากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 3% จากไตรมาสก่อน โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของยอดขาย SAT ได้แก่ 1.มีรายได้เพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อเพลาข้าง (axle shaft) เพื่อส่งออกไปยังอเมริกาเหนือราว 75 ล้านบาท และ 2.ยอดขายของธุรกิจชิ้นส่วนเครื่องจักรกลทางการเกษตรฟื้นตัวขึ้นเป็น 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 6% จากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิของ SAT ในไตรมาส 1/2564 จะอยู่ที่ 250 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน, และเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน) จากยอดขายที่โต 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 14% จากไตรมาสก่อน ประกอบกับการที่บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นเอาไว้ได้ในระดับสูงที่ 20.7% (เพิ่มขึ้น 2.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน, ทรงตัวจากไตรมาสก่อน) เนื่องจากได้อานิสงส์จากการประหยัดต่อขนาด อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายจะเพิ่มขึ้น 1.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 0.2% จากไตรมาสก่อน เป็น 9.9% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายของกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งถูกระงับไปชั่วคราวในปี 2563 จะถูกนำกลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง อย่างเช่นค่าใช้จ่ายด้าน R&D

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดในประเทศไทยอีกระลอก แต่ยังคงมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจะฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 เป็น 1.57 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจรอบนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ยังคงคาดว่ายอดขายของ SAT ในปี 2564 จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากบริษัทได้รับคำสั่งซื้อใหม่คิดเป็นมูลค่าปีละ 300 ล้านบาท และบริษัทก็มีการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจเครื่องจักรการเกษตร ซึ่งคาดว่าจะกลับไปอยู่ระดับก่อนโควิด-19 ระบาดได้ในปี 2564

ดังนั้น เชื่อว่า SAT จะยังคงได้อานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 24.50 บาท อิงจาก P/E ปี 2565 ที่ 11.8 เท่า

Back to top button