หุ้นรับอานิสงส์โครงการ ‘เราชนะ-ม33เรารักกัน’

เชื่อว่ายังมีบริษัทที่ยังได้รับประโยชน์จากโครงการ “เราชนะ” และ “ม33เรารักกัน” ต่อเนื่องจากเฟสแรก แม้ว่าระยะเวลาบวกในช่วงสั้นก็ตาม


เส้นทางนักลงทุน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพิ่มเงินสนับสนุนในโครงการ “เราชนะ” อีกคนละ 1,000 บาท/สัปดาห์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวมวงเงิน 2,000 บาท โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 33.5 ล้านคน รวมทั้งมีมติเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน โครงการ “ม33เรารักกัน” อีกคนละ 1,000 บาท/สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมวงเงิน 2,000 บาท พร้อมขยายเวลาของโครงการออกไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 8 ล้านคน

พร้อมกันนี้ที่ประชุมครม.ยังได้อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน บนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น ซึ่งจะเร่งดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์ของโควิด-19 บรรเทาลง โดยจะมีคณะกรรมการ “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” เป็นกลไกสำคัญ ภายใต้การติดตามของรองนายกรัฐมนตรีทุกคน

สำหรับมาตรการของภาครัฐในโครงการ “เราชนะ” และ “ม33เรารักกัน” เฟส 2 อีกคนละ 1,000 บาทต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมวงเงิน 2,000 บาท

เบื้องต้นเชื่อว่าบริษัทที่ยังได้รับประโยชน์จากโครงการ “เราชนะ” และ “ม33เรารักกัน” ต่อเนื่องจากเฟสแรก แม้ว่าระยะเวลาบวกในช่วงสั้นก็ตาม ได้แก่ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP, บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ KK, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เป็นต้น

ทั้งนี้ หุ้นข้างต้นนอกจากประเมินว่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการ “เราชนะ” และ “ม33เรารักกัน” แล้ว ถือว่าพื้นฐานยังมีปัจจัยบวกเช่นกัน

บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรสุทธิ 57.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 31.56 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจาก

1) รายได้ที่ปรับตัวสูงอย่างโดดเด่นที่ 752 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 37% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเพิ่มขึ้นอีก 3 เดือน เป็นสิ้นสุดโครงการในเดือน มี.ค. 2564 จากเดิมที่สิ้นสุด ธ.ค. 2563 ซึ่งมาตรการที่ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทโดยตรง ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐปรับวงเงินซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 700-800 บาทต่อเดือน จากเดิมปกติที่ 200 บาทต่อเดือน

2) SG&A to sales ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 7.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 9.4% เพราะจากรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ขณะที่ค่าใช้จ่ายการตลาดและค่าใช้จ่ายการบริหารค่อนข้างทรงตัว Implication

นอกจากนี้ ทางบล.เคทีบีเอสที คาดกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงประเมินผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ทำสถิติสูงสุดในรอบปี 2564 ผลพวงมาจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/2564 คาดผลประกอบการจะอ่อนตัวลงหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ และผลประกอบการจะยังคงเห็นแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังของปี 2564 แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มอำนาจซื้อให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค. 2564) แต่เป็นวงเงินที่ลดลงเหลือ 400 บาท คิดเป็นลดลง 50% จากวงเงินรอบแรกที่ 700-800 บาทต่อเดือน ในช่วงไตรมาส 1/2564

บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ KK เนื่องจากบริษัทมีการตั้งเป้ายอดขายในปี 2564 เติบโตขึ้นราว 20% จากปีก่อนที่ทำยอดขายได้ 973 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1/2564 ได้รับอานิสงส์บวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจากการเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐ และโครงการเราชนะ ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนได้มากขึ้น สนับสนุนยอดขายในช่วงไตรมาส 1/2564 มีทิศทางที่ดี และในพื้นที่ภาคใต้ที่บริษัทมีสาขาร้านค้าปลีก ทั้งสงขลา พัทลุง และสตูล ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ การดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นไปตามปกติ

ขณะเดียวกัน บริษัทวางแผนเปิดสาขาใหม่เพิ่มในปี 2564 จำนวน 3 สาขา ซึ่งจะเน้นขยายไปใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่หลักในการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัทมีความรู้และประสบการณ์ในการทำการตลาดในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน และมีฐานลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่มีกำลังซื้อสูง และยังมีโอกาสอีกมากในการเจาะขยายเข้าไปในชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ดังนั้นในสิ้นปีนี้บริษัทจะมีสาขาทั้งสิ้น 31 สาขา จากสิ้นปีก่อนที่ 28 สาขา ได้แก่ สงขลา 25 สาขา พัทลุง 2 สาขา และสตูล 1 สาขา

นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสการขยายธุรกิจใหม่เพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างการเจรจาทำดีล M&A ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่สามารถนำมาจำหน่ายในร้านค้าของบริษัทได้ ซึ่งเป็นธุรกิจเชื่อมโยงกับธุรกิจของบริษัทในปัจจุบันอยู่ เพื่อนำมาต่อยอดการเติบโตในอนาคต อีกทั้งบริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการออนไลน์ต่อเนื่องในแอปพลิเคชันของบริษัท ทั้งการพัฒนาระบบบัตรสมาชิกออนไลน์ การพัฒนาบริการสั่งสินค้าผ่านทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกของลูกค้าได้มากขึ้น และช่วยเป็นช่องทางในการเร่งการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 1,012.65 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,279.40 ล้านบาท โดยเป็นการลดลงของยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ในขณะที่รายได้อื่นลดลง สาเหตุหลักเกิดจากรายได้อื่นที่ลดลงจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเช่าและอัตราการเช่าที่ลดลงจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ดี บริษัทยังคุมต้นทุนได้ดี เพราะค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 1/2564 ลดลง โดยเป็นผลจาก (1) ต้นทุนขาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายที่ลดลง (2) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง เนื่องจากการควบคุมต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์กรให้เกิดความเหมาะสม

แม้ว่าผลการดำเนินงานไตรมาสแรกกำไรจะลดลง แต่หลังจากนี้หากไม่มีการล็อกดาวน์ ทางบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองว่ากำไรไตรมาส 2/2564 จะยังคงเติบโตได้จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากฐานกำไรที่ต่ำมากในไตรมาส 2/2563 ที่มีการปิดพื้นที่ขายบางส่วนของบิ๊กซี ประกอบกับธุรกิจกระป๋องมีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้ลูกค้ารายใหม่และมีการผลิตกระป๋องขนาดใหม่ เช่น กาแฟกระป๋อง และเบียร์ 500 ml. ส่วนยอดขายขวดแก้วคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มสินค้าแอลกอฮอล์และ Functional drink นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายด้านพนักงานจะลดลง 220 ล้านบาทต่อไตรมาส

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 1,733.74 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,680.86 ล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ จากกำไรสุทธิที่เติบโตขึ้นของกลุ่มธุรกิจแม็คโครประเทศไทยและกลุ่มธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส เช่นเดียวกันกับกลุ่มธุรกิจแม็คโครต่างประเทศ ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ มีการประเมินจากบล.กรุงศรี แม้กำไรไตรมาส 1/2564 ยังไม่มีประเด็นตื่นเต้น แต่สาขาเดิม (SSSg) ในเดือน เม.ย. 2564 ทาง MAKRO อยู่ในระดับเลขหลักเดียวสูง เนื่องจากส่วนที่ไม่ใช่อาหารยังสามารถดำเนินการได้เทียบกับปีที่แล้วที่ดำเนินงานไม่ได้ ขณะที่ผลกระทบการระบาดระลอก 3 ต่อ MAKRO อาจทำให้ความคาดหวังต่อสาขาเดิม (SSSg) ในเดือน พ.ค. น้อยลง และอาจยืดไปจนถึงต้นเดือน มิ.ย. หากสถานการณ์ยังคงแย่ลง เชื่อว่านี่เป็นการสะดุดในระยะสั้นของยอดขายในไทย โดยเฉพาะในส่วนลูกค้า HoReCa (ประมาณ 30%) หากมองต่อไปข้างหน้า เชื่อว่าฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ MAKRO, สัดส่วนยอดขายจากอาหารที่สูง และจำนวนผู้ให้บริการอาหารรายเล็กในแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนให้กับบริษัท

หุ้นข้างต้นคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการของภาครัฐในโครงการ “เราชนะ” และ “ม33เรารักกัน” ขณะที่ทิศทางผลการดำเนินงานในปีนี้นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะออกมาดี จึงเป็นโอกาสลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว!!!

Back to top button