‘ลูกาเชนโก’ ช็อกโลกอีกครั้ง

ทั่วโลกต้องตกใจและไม่พอใจกับการกระทำของประธานาธิบดี “อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก “ของเบลารุสอีกครั้ง เมื่อได้ใช้เครื่องบินรบประกบเครื่องบินของไรอันแอร์ เพื่อบังคับให้บินกลับไปยังเมืองหลวงในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพียงเพื่อจะจับกุม “โรมัน โปรตาเชวิช” นักข่าววัย 26 ปีที่เป็นเสี้ยนหนามสำคัญของเขา


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

ทั่วโลกต้องตกใจและไม่พอใจกับการกระทำของประธานาธิบดี “อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก “ของเบลารุสอีกครั้ง เมื่อได้ใช้เครื่องบินรบประกบเครื่องบินของไรอันแอร์ เพื่อบังคับให้บินกลับไปยังเมืองหลวงในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพียงเพื่อจะจับกุม “โรมัน โปรตาเชวิช” นักข่าววัย 26 ปีที่เป็นเสี้ยนหนามสำคัญของเขา

โปรตาเชวิชอยู่บนเครื่องบินที่กำลังบินจากเอเธนส์ไปยังเมืองวิลลินัส ของลิทัวเนีย แต่เครื่องบินยังคงอยู่ในน่านฟ้าของเบลารุสเมื่อเครื่องบินรบไปประกบ และสั่งให้เปลี่ยนทิศทางไปยังกรุงมินสค์ เมืองหลวงของประเทศ รัฐบาลเบลารุสอ้างว่า มีการขู่วางระเบิดเครื่องบินลำดังกล่าวจากกลุ่มฮามาส แต่ในภายหลังบอกว่าเป็นการขู่หลอก แต่ในที่สุดก็จับโปรตาเชวิชได้สำเร็จ

โฆษกของฮามาสออกมาปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และสื่อเบลารุสรายงานว่า ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ได้สั่งการด้วยตัวเอง โดยรัสเซียมีอิทธิพลต่อการกระทำในครั้งนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สหภาพยุโรป (อียู) และทั่วโลกประณาม หลายประเทศในอียูเรียกร้องให้ปล่อยตัวโปรตาเชวิสโดยทันที และสอบสวนเรื่องทั้งหมด ผู้บริหารของอียูเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการ “จี้เครื่องบิน” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าเป็น “การกระทำที่น่าตกใจ” ส่วน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ของสหประชาชาติกล่าวว่า ขัดต่อสนธิสัญญาการบินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ผู้นำอียูได้หารือถึงเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์และได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ห้ามสายการบินของเบลารุส บินผ่านน่านฟ้าของอียู และยังเรียกร้องให้สายการบินในอียูหลีกเลี่ยงการบินเหนือเบลารุส นอกจากนี้ยังได้ตกลงที่จะคว่ำบาตรเพิ่มต่อชาวเบลารุสอีกหลายคนและเรียกร้องให้ ICAO สอบสวนการบีบบังคับเครื่องบินไรอันแอร์โดยด่วน

สายการบินและบางประเทศไม่ได้รอคำแนะนำเกี่ยวกับการตอบโต้ต่อเบลารุส อังกฤษสั่งให้สายการบินของประเทศ ยุติเที่ยวบินเหนือเบลารุสและจะระงับใบอนุญาตบินต่อ “เบลาเวีย” สายการบินแห่งชาติของเบลารุสโดยทันที ขณะที่สายการบิน KLM ของเนเธอร์แลนด์จะหยุดเที่ยวบินชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ทางเลือกในการตอบโต้ของชาติตะวันตกยังคงมีจำกัดและทำอะไรไม่ได้มาก

ICAO ซึ่งตั้งอยู่ในมอนทรีออล ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแล และสหภาพยุโรป ไม่มีอำนาจเหนือเที่ยวบินที่จะบินขึ้นและลงจอดในเบลารุส หรือบินเหนือน่านฟ้าของเบลารุส นอกจากเที่ยวบินตรงที่มาหรือลงจอดในยุโรป

เบลารุสยังตั้งอยู่บนเส้นทางการบินของเส้นทางภายในยุโรปและระหว่างยุโรปกับเอเชีย และการบินอ้อมเบลารุสจะทำให้เที่ยวบินช้าลงและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สายการบิน

อียูและสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรทางการเงินต่อเบลารุสมาแล้วหลายรอบในปีที่ผ่านมา และลูกาเชนโกและเจ้าหน้าที่เบลารุสหลายคนก็ได้ถูกคว่ำบาตรจากอียูอยู่แล้ว เช่น ห้ามเดินทางและถูกระงับสินทรัพย์

แม้ว่า เออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมการยุโรปกล่าวว่า “พฤติกรรมที่อุกอาจและผิดกฎหมาย” ของผู้นำเบลารุส จะมีผลตามมา แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลูกาเชนโกได้แสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะก้าวไปไกลเพียงไร เพื่อที่จะปราบปรามฝ่ายตรงข้ามหลังการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา และ ตลอดระยะเวลาที่ปกครองเบลารุสมานานเกือบ 27 ปี

นับตั้งแต่ชนะเลือกตั้งมาแบบค้านสายตาประชาชน และปฏิเสธว่าไม่ได้โกงเลือกตั้ง เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ลูกาเชนโก ซึ่งปกครองเบลารุสมาตั้งแต่ปี 2537 ได้กวาดล้างคนที่ไม่พอใจเขา และฝ่ายค้านหลายคนได้ถูกจับในขณะที่หลายคนต้องหนีออกนอกประเทศ

ในกรณีของโปรตาเชวิช เป็นอดีตบรรณาธิการของ Nexta ซึ่งเป็นสื่อที่มีช่อง Telegram เขาได้ออกจากเบลารุสไปลี้ภัยอยู่ในลิทัวเนียเมื่อปี 2562 แต่ก็ได้รายงานการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 จากลิทัวเนีย และหลังจากนั้นก็ถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายและปลุกระดมให้เกิดการจลาจล

Nexta มีบทบาทสำคัญสำหรับฝ่ายค้านในระหว่างการเลือกตั้ง แม้ว่าลูกาเชนโกจะชนะท่ามกลางการกล่าวหาว่าโกง แต่ Nextaก็ยังคงรายงานเหตุการณ์หลังเลือกตั้งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลระงับการเสนอข่าวหลายครั้ง

โปรตาเชวิชได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่เป็นครั้งแรกในฐานะวัยรุ่นที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนหลังจากเข้าร่วม การประท้วงในปี 2554 ขณะนี้ โปรตาเชวิช ทำงานให้กับช่อง Belamova ซึ่งเป็นอีกช่องหนึ่งของ Telegram เขาได้ขึ้นมาเขียนข่าวหลังจากบล็อกเกอร์ที่ชื่อ “อิกอร์ โลซิก” ถูกทางการเบลารุสจับกุมเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

ฟีดโซเชียลมีเดียของโปรตาเชวิสจากต่างประเทศ เป็นหนึ่งในช่องข่าวอิสระที่ยังคงเหลืออยู่ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับ เบลารุส นับตั้งแต่มีการกวาดล้างครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว

โปรตาเชวิชได้เดินทางไปเอเธนส์เพื่อเข้าร่วมประชุมเศรษฐกิจกับ สเวตลานา ติคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้านที่อ้างชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในลิทัวเนีย

ในขณะเดียวกัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการบังคับให้เครื่องบินพลเรือนเปลี่ยนเส้นทาง จนทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูต รัสเซียกล่าวหาชาติตะวันตกว่าเสแสร้ง

โดยตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ เมื่อปี 2556 ที่เครื่องบินซึ่งมีประธานาธิบดี อีโว โมราเลสของโบลิเวียอยู่บนเครื่อง ถูกบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางจากรัสเซียไปลงจอดในออสเตรียเพราะสงสัยว่า เอ็ดเวิร์ด สโนเดน อดีตผู้รับเหมาของหน่วยสอดแนมสหรัฐฯ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการตัว อยู่บนเครื่อง เนื่องจากสโนเดนได้เปิดเผยความลับของสหรัฐฯ

การกระทำแบบขี้ช้างจับตั๊กแตนที่ทั้งช็อก อุกอาจ และสร้างความโกรธให้คนทั่วโลกของลูกาเชนโก เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นำเผด็จการพร้อมที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะบดขยี้ฝ่ายตรงข้าม และรักษาอำนาจของตนไว้ และตัวอย่างที่ใกล้ตัวเรามากสุดก็คือ การปฏิวัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในเมียนมา ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังมีการปราบปรามผู้ประท้วงไม่เลิก แม้ว่านานาชาติจะเพียรประณามและคว่ำบาตรอย่างไรก็ตาม

โลกดิจิทัล” ไปไกลมากแล้วก็จริง แต่ “โลกการเมือง” ในบางประเทศยังย่ำอยู่กับที่ และผู้นำเผด็จการก็ยังมีพฤติกรรมที่ “ไร้คุณธรรม” และ “เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง” ซ้ำ ๆ เดิม ๆ วนไปไม่จบสิ้น

กว่า “กฎแห่งกรรม” จะมาจัดการ  ก็คงมีอีกไม่รู้กี่แสนกี่พันคนที่ต้องตกทุกข์ได้ยากอย่างเช่น โปรตาเชวิช และอองซาน ซูจี

Back to top button