‘มิถุนา’ ปีนี้ ไม่ดีกว่าปีก่อน ๆ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำผลงานในเดือนพฤษภาคม คละเคล้ากันไป ดัชนีหุ้นบิ๊กแคป อย่างเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น 0.55% ดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 1.93% และ ขณะที่ดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นสมอลแคป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.11% แต่ดัชนีแนสแด็กที่มีน้ำหนักหุ้นเทคโนโลยีมาก ปรับตัวลง 1.53% ทิศทางตลาดที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกันเช่นนี้ ทำให้มีการจับตามองกันว่า เดือนมิถุนายน หุ้นจะขึ้นหรือจะดิ่ง และมีปัจจัยอะไรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำผลงานในเดือนพฤษภาคม คละเคล้ากันไป ดัชนีหุ้นบิ๊กแคป อย่างเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น 0.55% ดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 1.93% และ ขณะที่ดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นสมอลแคป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.11% แต่ดัชนีแนสแด็กที่มีน้ำหนักหุ้นเทคโนโลยีมาก ปรับตัวลง 1.53% ทิศทางตลาดที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกันเช่นนี้ ทำให้มีการจับตามองกันว่า เดือนมิถุนายน หุ้นจะขึ้นหรือจะดิ่ง และมีปัจจัยอะไรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ

เป็นที่รู้กันว่า เดือนมิถุนายน ไม่ใช่เดือนที่หุ้นจะแข็งแกร่ง ข้อมูลจาก บีสโปก อินเวสเมนต์ กรุ๊ป ชี้ว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเพียงแค่ 0.12% ในเดือนมิถุนายน และได้เป็นบวก 52% ในช่วงดังกล่าว และเมื่อดูตัวเลขในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หุ้นในเดือนมิถุนายนได้ซบเซากว่านั้นมาก โดยปรับตัวขึ้นเพียง 40% และผลงานของหุ้นในเดือนมิถุนายน ผูกติดกับเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่เลวร้ายที่สุดของปี โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเฉลี่ย 0.7%

สำหรับเดือนมิถุนายนปีนี้ เหตุการณ์สำคัญสูงสุดที่นักลงทุนจับตามองเป็นพิเศษ คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 15 และ 16 มิถุนายนนี้ สิ่งที่ทุกคนอยากรู้คือ เฟดเริ่มเชื่อว่าเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดหรือไม่ หรือเศรษฐกิจแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเดินหน้า โดยไม่ต้องอุดหนุนนโยบายเงินมากหรือไม่

แม้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายคนได้ย้ำว่า จะคงนโยบายเดิมเอาไว้ในขณะที่จับตาว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจริงหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่าเงินเฟ้อสูงขึ้นชั่วคราว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เฟดยังได้กล่าวว่า จะพิจารณาหารือที่จะลดโครงการซื้อพันธบัตร หรือการผ่อนคลายเชิงปริมาณหากเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และนั่นจะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย

หากเงินเฟ้อร้อนแรงเกินไป อาวุธหลักของเฟดที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ คือ ต้องขึ้นดอกเบี้ย และแนวโน้มที่ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นทำให้ตลาดวิตก เนื่องจากมันหมายถึงว่าบริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่มีสภาพคล่องน้อยลง ในทางทฤษฎี ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็หมายถึงว่านักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนในพันธบัตรที่มีผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นได้

ก่อนที่จะได้รู้ว่าเฟดคิดอย่างไร และมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวอย่างไร มีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวที่จะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ เช่น ตัวเลขกิจกรรมในภาคผลิตและในภาคบริการจากสถาบันบริหารซัพพลาย (ISM) รายงานเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด เป็นต้น แต่รายงานที่มีการจับตามองมากที่สุดในสัปดาห์นี้ คือ การจ้างงานเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ (4 มิ.ย.)

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า จะมีการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมประมาณ 674,000 คน เทียบกับที่มีการจ้างงานอย่างน่าผิดหวัง เพียง 266,000 คน ในเดือน เมษายน  หากตัวเลขการจ้างงานไม่เป็นไปตามที่คาดอีกเดือน เชื่อว่าตลาดจะเป็นกังวลและหุ้นมีสิทธิ์ตกได้

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญในตลาดก็กำลังให้ความสนใจต่อสัญญาณต่าง ๆ ที่ชี้ว่ามีสภาพคล่องในระบบการเงินเพิ่มขึ้นมาก โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันได้ฝากเงินสดไว้กับเฟดเกือบครึ่งล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นอกจากนี้ การเก็งกำไรในหุ้น meme (หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เป็นเพราะผลประกอบการ แต่เป็นเพราะโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นสัญญาณว่ามี “ฟองน้ำลาย” ในตลาด และชี้ว่า มีสภาพคล่องมากในมือของนักลงทุน

ปลายสัปดาห์นี้ยังถือเป็นการเริ่มต้นฤดูร้อนอย่างไม่เป็นทางการในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันจำนวนมาก เริ่มออกท่องเที่ยวเพราะมีการคลายมาตรการคุมโควิด-19 มากขึ้น และมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ในช่วงวันหยุด Memorial Day เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า คนอเมริกันเดินทาง และท่องเที่ยวมากกว่าที่คาดมาก แม้ยังไม่เท่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อเข้าถึงช่วงวันหยุดฤดูร้อนเต็มตัว นักลงทุนอาจหายไปจากตลาดมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะไม่ได้เที่ยวมานาน

ดูจากสถิติและเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิถุนายนปีนี้แล้ว ตลาดหุ้นน่าจะผันผวนและไม่แข็งแกร่ง เหมือนมิถุนาปีก่อน ๆ เช่นเคย

Back to top button