เปิด 6 หุ้นบิ๊กแคป! โบรกฯคาด Q2/64 ผลงานดี

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ไปเป็นที่เรียบร้อยหลังจากปิดงบไตรมาสแรกสิ้นเดือนมีนาคม


เส้นทางนักลงทุน

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ไปเป็นที่เรียบร้อยหลังจากปิดงบไตรมาสแรกสิ้นเดือนมีนาคม จนกระทั่งเริ่มเข้าเดือนท้ายสุดของไตรมาส 2 ปี 2564 อีกแล้ว ซึ่งหลังจากปิดงบไตรมาส 2 สิ้นเดือนมิถุนายนก็นับไปอีกภายใน 45 วัน ก็จะเห็นงบไตรมาส 2 ของบจ.ทยอยประกาศออกมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ข่าวหุ้นธุรกิจจึงทำการเฟ้นหาข้อมูลจากบทวิเคราะห์ที่มีการประเมินไว้ก่อนหน้าว่าจะมีบริษัทไหนบ้าง ทางผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 จะออกมาดี โดยเบื้องต้นทำการสำรวจในหุ้นบิ๊กแคปที่อยู่ในกลุ่ม SET50 มานำเสนอแก่นักลงทุน

สำหรับผลจากการสำรวจเบื้องต้นตามที่ปรากฏในบทวิเคราะห์ มีหลักทรัพย์ที่ประเมินว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 จะออกมาดี อาทิ BAM, BBL, BDMS, BJC, HMPRO และ TU เป็นต้น (เป็นเพียงตัวอย่าง)

บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM มีการประเมินจาก บล.เอเชีย เวลท์ ว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 มีแนวโน้มของการฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อน จากสาเหตุยอดเก็บเงินสดของ NPL และ NPA ที่สูงกว่าไตรมาส 1 ปี 2564 และการเลื่อนชำระมาจากไตรมาสที่ผ่านมา รวมไปถึงรายได้ผ่อนชำระสินทรัพย์ NPA ส่วนที่เหลือจากปี 2563 ที่จะเข้ามาในไตรมาส 2 ปี 2564 ราว 450 ล้านบาท ขณะเดียวกันการเร่งรับชำระจากลูกหนี้ NPL จากการอนุมัติตั้งราคาพิเศษ Onetime ให้กับลูกหนี้

อย่างไรก็ดี การเข้าซื้อหนี้เสียใหม่ ๆ มีแนวโน้มที่ลดลงจากธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างที่จะชะลอการขายหนี้เสียออกมา ทำให้ Supply ในตลาดลดลง และความผันผวนของเศรษฐกิจทำให้บริษัทต้องพิจารณาการเข้าซื้อหนี้เสียถี่ถ้วนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อผลประกอบการในส่วนของรายได้ NPL ของบริษัทในระยะสั้น

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีการประเมินจาก บล.เอเชีย เวลท์ ว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 ฟื้นตัวจากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการตั้งสำรองที่ลดลงหลังในไตรมาส 2 ปี 2563 กำไรสุทธิถูกกดดันจากการตั้งสำรองในระดับสูงที่ 1.32 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่พักตัวจากไตรมาสก่อน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้าน Seasonal ในขณะที่การตั้งสำรองทรงตัว รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีการประเมินจาก บล.กรุงศรี ว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2564 จะเพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่ามาจากรายได้จากบริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 ในช่วงเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 10% จากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 น้อยกว่า 5% ด้วยจำนวนผู้รับตรวจโควิด-19 เพิ่มขึ้นจาก 1,500 รายต่อวันในช่วงไตรมาสแรก มาเป็น 3,800 รายต่อวันในเดือน เม.ย. และยังทรงตัวในระดับสูงที่ 3,000 รายต่อวันในช่วงวันที่ 1-11 พ.ค.

ดังนั้น จำนวนผู้ป่ายในที่ติดเชื้อโควิด-19 จึงอยู่ที่ 100 รายต่อวัน ทำให้อัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 56% จาก 700 เตียง ณ ต้นเดือน เม.ย. เป็น 1,900 ณ สิ้นเดือน เม.ย. และบริการ hospitel เพิ่มเป็น 23% ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้ที่หายไปของผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งน่าจะยังไม่กลับมาในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทาง บริการโควิดจะช่วยหนุน EBITDA margin และผลกำไรของบริษัท

บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO มีการประเมินจาก บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2564 เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนจากฐานต่ำ และมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยยอดขายฟื้นตัวและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ส่วนการนำเข้าสินค้า Private brand จากจีนเริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ

เนื่องจากสาขาเดิม SSSG เดือน เม.ย. 2564 เป็นบวกมากกว่า 50% เนื่องจากฐานต่ำในปีก่อน ซึ่งมีการปิดสาขาในช่วงล็อกดาวน์และ SSSG เดือน พ.ค. 2564 น่าจะเป็นบวกได้เกิน 10% ส่วนเดือน มิ.ย. 2564 คาดว่าจะประคองตัวได้แม้ปีก่อนมีผลบวกจาก pent-up demand อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการที่สัดส่วนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า (อัตรากำไรต่ำ) ไม่สูงมาก เหมือนช่วงการล็อกดาวน์

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU มีการประเมินจาก บล.เอเชีย เวลท์ ว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการกระจายวัคซีนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ร้านอาหารในสหรัฐฯ กลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากสินค้า Innovation ใหม่ ๆ รวมถึง Red Lobster ที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว จากการเปิดร้านอาหารแล้วราว 96% ในเดือน เม.ย. 2564 โดยเปิดบริการ 50% ของที่นั่งทั้งหมดในร้าน

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC มีการประเมินจาก บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2564 จะกลับมาเติบโตได้ทั้งจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในไตรมาส 2 ปี 2564 คาดว่าจะเติบโตทั้งจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายขวดแก้วเพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าเครื่องดื่ม (non-alcohol) และกลุ่มอาหารมีการส่งออกได้มากขึ้น หลังจากโควิดในต่างประเทศคลี่คลายลง

ขณะที่ยอดขายกระป๋องอะลูมิเนียมจะฟื้นตัว เนื่องจากลูกค้าที่ส่งออกสินค้าไปเมียนมากลับมาส่งสินค้าได้มากขึ้นกว่าไตรมาส 1 ปี 2564 ที่มีปัญหาด้าน Supply chain และระบบธนาคาร อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการควบคุมต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่วนกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีจากการขายเครื่องเอ็กซ์เรย์ และมีการส่งมอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2 ปี 2564 ยังถูกกดดันจากการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว และต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น แต่การควบคุมต้นทุนได้ดีช่วยลดผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง ส่วนยอดขายของบิ๊กซีจากไตรมาสก่อนจนถึงปัจจุบัน ยังลดลงกว่า 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของโควิด แต่แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นฟื้นตัวจากการปรับปรุงคุณภาพสินค้าอาหารสด และเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไรดีขณะที่รายได้ค่าเช่าคาดว่าจะยังลดลงจากการให้ส่วนลดค่าเช่า 10% ส่วนการกลับเข้าไปซื้อ MM Mega Market Vietnam ยังอยู่ในแผน แต่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลา

ทั้งนี้ เป็นการรวบรวมผลการอ้างอิงจากบทวิเคราะห์ว่าบริษัทดังกล่าวข้างต้น ประเมินว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 จะออกมาดี!!

Back to top button