KBANK ทั้งกว้าง-ยาว

ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL คือ ล่ำซำพี่-ล่ำซำน้อง...สิ่งที่ทำด้วยกันมา ที่คนนอกไม่รู้ คือ หนึ่งในโปรดักส์ของ KBANK เป็นแบงก์แอสชัวรันส์ นายหน้าขายประกันให้กับ MTL...


ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL คือ ล่ำซำพี่-ล่ำซำน้อง…สิ่งที่ทำด้วยกันมา ที่คนนอกไม่รู้ คือ หนึ่งในโปรดักส์ของ KBANK เป็นแบงก์แอสชัวรันส์ นายหน้าขายประกันให้กับ MTL

แต่ที่ผ่านมา KBANK ไม่ได้ขายประกันให้กับ MTL เท่านั้น ยังขายให้กับบริษัทประกันอื่น ๆ ด้วย

ก่อนหน้านี้ ถ้านึกถึงประกันของ MTL ก็จะรู้จักผ่านแค่พนักงานขาย แต่ตอนนี้บทบาทของ MTL กับ KBANK ชัดเจนขึ้นในความเป็นประกัน…ทำให้ความแน่นแฟ้นของสองล่ำซำชัดเจนมากขึ้น

จากกรณีล่าสุด KBANK ได้เซ็นสัญญาขายประกันชีวิตให้กับ MTL โดย 1) สัญญายาวขึ้น…จากสัญญาเดิมแค่ 5 ปี แต่สัญญาใหม่เพิ่มเป็น 10 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565-1 ม.ค. 2574

2) ผูกแค่ MTL รายเดียว เป็นสัญญาแบบเอ็กซ์คลูซีฟ…ก็เป็นไปได้ว่าพอพอร์ตของ MTL ใหญ่ขึ้น KBANK ก็เลยกล้าผูกแค่เจ้าเดียว

และ 3) มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งตัวโปรดักส์และช่องทางการขาย…จากเดิมขายแค่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ก็เพิ่มเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง ขณะที่ช่องทางขาย จากเดิมขายผ่านแบงก์ เพิ่มเป็นขายผ่านลูก ๆ ของ KBANK รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล…

จุดที่น่าสนใจ…มุม KBANK จะได้เงินค่าแรกเข้าก่อนเลย 12,700 ล้านบาท โดย KBANK จะทยอยบันทึกเฉลี่ยปีละ 1,270 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญา…จะว่าไปในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ อาจทำให้ตัวเลขกำไรของแบงก์ถูกหักล้างไป จากการตั้งสำรองไว้เยอะ การมีเงินก้อนนี้เข้ามา ซึ่งเป็นกำไรกินเปล่า ก็น่าจะช่วยชดเชยกำไรที่หายไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

แต่สิ่งที่ KBANK จะสูญเสียไป จากก่อนหน้านี้ขายประกันให้กับบริษัทอื่นด้วย ก็ขายไม่ได้แล้ว เนื่องจากผูกมัดรวมกับ MTL ไว้ 10 ปี…แต่เนื่องจากเป็นการผูกกับบริษัทประกันเบอร์ต้น ๆ ของตลาด โดยในปี 2563 MTL มีส่วนแบ่งเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่เป็นอันดับ 3 สัดส่วน 13.6% ก็คงไม่เสียหายอะไร…

แถมมีการเปิดช่องให้ขายผ่านบริษัทลูก ๆ ได้ ก็เป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากค่านายหน้า หรือโบนัสหากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย นอกเหนือจากเงินค่าแรกเข้า 12,700 ล้านบาท

เป็นรายได้ที่มีต้นทุนต่ำ เพราะใช้องคาพยพที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็น สาขา พนักงานสาขา ตู้เอทีเอ็ม หรือแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งผ่านการลงทุนครั้งเดียวไปแล้ว ขณะที่ KBANK เป็นหนึ่งในแบงก์รุกด้านดิจิทัลอยู่แล้ว ก็จะทำให้มีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น…

ฟาก MTL แว๊บแรกก็ดูหนักเหมือนกัน ต้องจ่าย 12,700 ล้านบาท แต่นั่นหมายถึง MTL มีพันธมิตรอย่าง KBANK เข้ามาช่วยขายโปรดักส์ให้ แม้ MTL จะมีพนักงานขายเยอะ แต่ก็มาพร้อมต้นทุน ส่วนการผูกกับ KBANK นั้น มีพนักงานของแบงก์และในเครือทั่วประเทศคอยซัพพอร์ตอยู่แล้ว ก็จะทำให้ฟิกคอสของ MTL ลดลง ได้มาร์จิ้นที่สูงขึ้น

เมื่อ MTL ทำผลงานได้โดดเด่น สุดท้ายห่วงโซ่บนสุดก็จะกลับคืนสู่ KBANK ในฐานะผู้ถือหุ้น MTL สัดส่วน 38.25%…

งานนี้ KBANK ได้ทั้งขึ้นทั้งล่องน่ะสิ..!?

แต่น่าเสียดาย…อุตส่าห์มีข่าวดี ราคาหุ้นไม่ตอบสนองเอาซะเลย นั่นเป็นเพราะมีปัจจัยลบทั้งเรื่องดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา คอยกัดกร่อนอยู่…

ดังนั้น ใครที่มี KBANK และหุ้นแบงก์ติดอยู่ในพอร์ต คงต้องทนหวานอมขมกลืนไปก่อนอะนะ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button