A กระเป๋าซ้าย-ขวา.!?

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนหุ้นบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ A หรือ AREEYA ในอดีต ห่างหายไปจากวงการตลาดหุ้น แทบไม่ปรากฏชื่อและข่าวสารความเคลื่อนไหวใด ๆ เลย...เงียบเป็นเป่าสาก จนหลายคนคิดว่าออกจากตลาดฯ ไปซะแล้ว..!!


ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนหุ้นบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ A หรือ AREEYA ในอดีต ห่างหายไปจากวงการตลาดหุ้น แทบไม่ปรากฏชื่อและข่าวสารความเคลื่อนไหวใด ๆ เลย…เงียบเป็นเป่าสาก จนหลายคนคิดว่าออกจากตลาดฯ ไปซะแล้ว..!!

แต่ที่ไหนได้ ก็ยังอยู่นี่นา…ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ยังเป็นกลุ่มเดิม นำโดยกลุ่ม “เลาหพูนรังสี”…

นอกจากไม่เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว ก็แทบไม่เห็นการเปิดโครงการใหม่เหมือนกัน…

เอ๊ะ..!! หรือเปิดแต่ไม่เป็นข่าว อันนี้ก็ไม่รู้สินะ…

ที่จริง A เป็นอสังหาริมทรัพย์ยุคกลาง-เก่า ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ โดยเน้นพัฒนาโครงการแนวราบ จับตลาดระดับกลาง มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง หลายคนเรียกติดปากในนาม “หมู่บ้านอารียา

แต่ช่วงหลังมานี้ ไม่รู้ว่าบริษัทอยู่ในภาวะจำศีลหรือเปล่า..? จึงไม่ปรากฏข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้เห็น…

เพิ่งมาปรากฏเป็นข่าวอีกที ก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัท ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 49.4 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 71 ถนนลาดพร้าวและถนนประดิษฐ์มนูธรรม กรุงเทพมหานคร ด้วยมูลค่า 200 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อที่ดินจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ จาก “วิศิษฎ์ เลาหพูนรังสี” และ “วิวัฒน์ เลาหพูนรังสี” นี่แหละ…

จริง ๆ แล้วที่ดินดังกล่าว A เช่าจากผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทอยู่แล้ว มีสัญญาเช่า 10 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2557 ถึง 31 ธ.ค. 2566

ขณะที่ A ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องซื้อที่ดินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า “เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในเรื่องอัตราค่าเช่า หรืออายุสัญญาเช่า หรือการเปลี่ยนแปลงเจ้าของที่ดิน ในฐานะผู้เช่าที่ดิน บริษัทจึงเล็งเห็นปัจจัยความเสี่ยงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับบริษัทได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งในการได้มาซึ่งสินทรัพย์ บริษัทจึงทำการเจรจาขอซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว” อันนั้นก็ว่ากันไป

แต่ก็น่าคิด เมื่อ A ซื้อที่ดินดังกล่าวมาแล้ว จะไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร..? ครั้นจะไปขยายอาคารให้ใหญ่ขึ้น แล้วเปิดให้เช่า ก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล…

โอเค…แม้จะทำให้บริษัทได้แอสเซทมาก็จริง แต่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มเท่าที่ควร..? แถมเป็นภาระผูกพัน ต้องแบกรับค่าเสื่อมอีกต่างหาก…

มูลค่าเพิ่มที่เห็นตอนนี้ คงมีแค่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินในอนาคตนี่แหละ…

ถ้ามองแบบสายเหยี่ยว ด้วยสภาพคล่องของ A ที่มีเงินสดเยอะ โดย ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2564 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสูงถึง 1,055 ล้านบาท

เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือยุทธการรีดเงินสดจากบริษัทหรือเปล่า..? เป็นการโยกกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวาหรือไม่ อย่างไร..? ก็ไม่รู้สินะ..อันนี้มันน่าคิด..!!???

เพราะด้วยจำนวนเงิน 200 ล้านบาท…A เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อที่ดินจากแหล่งอื่น ๆ มาพัฒนาเป็นโครงการแล้วขายไม่ดีกว่าเหรอ..?

ก็น่าติดตามว่า IFA หรือที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ จะมีความเห็นเป็นเช่นไรต่อธุรกรรมนี้…

แต่สุดท้ายแล้ว ผู้ถือหุ้นนั่นแหละที่จะเป็นคนตัดสิน ซึ่งกำหนดวันชี้ชะตา 3 ก.ย. 2564 นี้

ถ้าผู้ถือหุ้นเห็นดีเห็นงามยกป้ายไฟเขียว ก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เงินเข้ากระเป๋าไป 200 ล้านบาทเลยนะ

ถ้าเป็นจริง ก็ไม่รู้ว่าจะ “เขี่ยปลาเข้าปากแมว” หรือเปล่านะ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button