กองทุน-ฝรั่ง สาดแบงก์

10 หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส  2/2564 กันครบแล้ว


10 หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส  2/2564 กันครบแล้ว

กำไรรวมกัน 5.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 69%

ส่วน 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 64) มีกำไร 9.78 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%

ปุจฉา…ถามว่า (ภาพรวม) กำไรที่ออกมาเป็นไปตามคาดการณ์หรือเปล่า

วิสัชนา…. มากกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เล็กน้อย

มีนักลงทุนมาถามว่า ทำไมหุ้นแบงก์ร่วงหนัก แม้ว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น และจะมีจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลด้วย

ประเด็นนี้ต้องไปถาม “กองทุน” และนักลงทุนต่างประเทศ

เข้าใจว่า นักลงทุนสถาบันหรือกองทุน น่าจะมีการทยอย “ปรับพอร์ต” ขายหุ้นกลุ่มธนาคารออกมาก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อดูการลดลงของราคาหุ้นแบงก์แบบเป็นเปอร์เซ็นต์

น่าจะมองภาพออกได้เลยว่า มีเพียงกองทุน หรือนักลงทุนรายใหญ่เช่นต่างชาติเท่านั้น ที่จะขายออกมา แล้วทำให้หุ้นแบงก์ลงมาขนาดนี้ได้ ท่ามกลางวอลุ่มเทรดที่ค่อนข้างหนา

เพราะลำพังนักลงทุนรายย่อย หากสาด หรือขายกันออกมา

ไม่น่าจะมีผลทำให้หุ้นร่วงแรงได้ขนาดนี้

หรือมีมูลค่าการซื้อขายที่สูง

เช่น กสิกรไทย หรือ KBANK เมื่อวานนี้ มูลค่าการซื้อขายกว่า 7,624 ล้านบาท

ราคาหุ้นของ KBANK หากดูกราฟ นับจากต้นเดือนเมษายน 2564 จะพบว่า ราคาหุ้นค่อย ๆ ลดระดับลงเรื่อย

การ “ทิ้งหุ้น” เป็นลักษณะค่อย ๆ ทิ้งออกมา

ทำให้ราคาหุ้นค่อย ๆ ซึมลง

ไม่ได้ลงแบบพรวดพราด เพราะหากเป็นแบบนั้น จะทำให้รายย่อยที่ถือหุ้นอยู่เกิดการ “แพนิก”

แล้วสาดหุ้นตามกันออกมา

หากเป็นแบบนี้ ไม่น่าจะส่งผลดีต่อบรรดารายใหญ่ที่จะปรับพอร์ต นำหุ้นแบงก์ออก

มาดูกราฟหุ้น BBL หรือแบงก์กรุงเทพกันบ้าง

กราฟค่อย ๆ ซึมลงคล้าย กับ KBANK

ราคาหุ้นลงจากระดับ 130 บาท เมื่อต้นเดือนเม.ย. 64 ลงมาเหลือ 103 บาทต่อหุ้นเมื่อวานนี้

ทั้ง BBL และ KBANK ต่างเป็นหุ้นที่กองทุน และนักลงทุนต่างชาติถือกันค่อนข้างมาก

จะว่าไปแล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ BBL และ KBANK มีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติผ่าน NVDR จนเต็มพิกัด

ขณะนั้น ก็คิดไปว่า ต่างชาติน่าจะยังไม่ขายออกมา

หรืออาจจะปรับพอร์ตออกมาระยะสั้น

ทว่า พอมาดูกราฟแล้ว เรื่องที่คิดไว้อาจจะไม่ใช่ซะแล้ว

หลังกลุ่มแบงก์แจ้งงบฯ กันออกมากันครบแล้ว

เข้าไปอ่านบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ทำการวิเคราะห์หุ้นแบงก์แต่ละตัวออกมา

จะพบว่า แทบจะทั้งหมด ไม่มีนักวิเคราะห์แนะนำ “ขาย” หุ้นแบงก์

เลวร้ายสุดคือ แนะนำ “ถือ” หรือไม่ก็ “ทยอยซื้อ”

แต่ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ “ซื้อ” เป็นส่วนใหญ่

นักวิเคราะห์ต่างยังคงมีมุมมองเชิงบวกกับผลกำไรของหุ้นแบงก์ในปีนี้อยู่ และราคาที่ลงมา ถือว่าค่อนข้างพอจะรับได้

แต่การแนะนำของนักวิเคราะห์ กับราคาหุ้นแบงก์ตอนนี้ กลับวิ่งสวนทางกัน

กองทุนและต่างชาติ คงจะมองไปข้างหน้าว่าแบงก์มีความเสี่ยงที่อาจจะตั้งสำรองฯ เพิ่ม

แล้วอาจจะกดดันกำไรให้ลดลง

จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

แม้ว่า ณ วันนี้ เงินกองทุนของแบงก์ต่าง ๆ หรือทุกแห่งจะอยู่ในระดับสูงมาก และน่าจะเพียงพอต่อการรับมือกับหนี้เสียก้อนใหม่จากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่จบ

รายย่อยที่จะเข้าไป “ทยอยซื้อ” หรือ “รับ” ในช่วงนี้

จึงต้องดูแนวรับกันดี ๆ

ว่ากองทุน กับต่างชาติ เทขายกันสะเด็ดน้ำหรือยัง

Back to top button