เงินบาทอ่อนค่า & ตลาดหุ้นผันผวน

สถิติเงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 4 ปี มาสู่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2560 และหากอ่อนค่าต่อเนื่องขึ้นเหนือระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นทำให้ทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี ปมเหตุสำคัญทำให้เงินบาทอ่อนค่า..หนีไม่พ้นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ เป็นตัวกดดันสภาพเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง


สถิติเงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 4 ปี มาสู่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2560 และหากอ่อนค่าต่อเนื่องขึ้นเหนือระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นทำให้ทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี ปมเหตุสำคัญทำให้เงินบาทอ่อนค่า..หนีไม่พ้นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ เป็นตัวกดดันสภาพเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดกระทรวงการคลัง มีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของไทยปีนี้ลงเหลือบวก 1.3% เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลงเหลือบวก 1.8% ตามด้วยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทั้งสมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีมติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นติดลบ 1.5% ถึง 0.0% จากเดิม 0.0 % ถึง 1.5% มีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐบาล

พร้อมกันนี้กระทรวงการคลัง ประเมินว่า ประเทศไทยจะขาดดุลการค้ามากขึ้น (เงินไหลออกจากประเทศ) เพราะการนำเข้าเติบโต 23.5% แต่ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก นั่นทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account deficit) สูงถึง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้

ตามหลักการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาท จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุนและผู้ที่กู้เงินตราต่างประเทศ ที่มีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์เสมอ ตัวอย่างเช่น ช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกอาจส่งออกได้รับรายได้ในรูปเงินบาทน้อยลง ขณะเดียวกันผู้นำเข้าและประชาชนผู้บริโภค อาจได้รับประโยชน์จากสินค้าและบริการจากต่างประ เทศที่ราคาถูกลง

สำหรับตลาดหุ้นไทยการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่นักลงทุนต้องพิจารณาควบคู่กับการตัดสินใจลงทุน เพราะไม่ว่าเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่า การวางกลยุทธ์การลงทุนจะมีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุหากค่าเงินมีเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวม ทั้งดัชนีหุ้น การไหลเข้าหรือไหลออกของเงินทุนต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ

กรณีตัวอย่างช่วงต้นปี 2543 ดัชนีหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ 470 จุด ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากช่วงกลางปี 2543 ดัชนีหุ้นไทยปรับลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเงินบาทอ่อนค่าลงสู่ระดับ 44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จนมาถึงต้นปี 2544 ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 858 จุด ช่วงเดือนธันวาคมปี 2550 ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

จนถึงช่วงการเกิดวิกฤตซับไพรม์ ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบ ดัชนีหุ้นไทยลดลงสู่ระดับ 449 จุด ช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. 2551 และเงินบาทอ่อนค่าลงสู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อพ้นช่วงวิกฤตซับไพรม์ ดัชนีหุ้นไทยทยอยปรับขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน

ปรากฏการณ์ “เงินบาทอ่อนค่า” นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จากระดับ 29.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (1 ม.ค. 2564) มาสู่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (6 ส.ค. 2564) อ่อนค่าลงกว่า 3.46 บาทหรือกว่า 11.54% สอดคล้องกับตัวเลขนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 101,430 ล้านบาท แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวแตกต่างจากปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็ตาม

จากตัวเลขแนวโน้ม GDP ปีนี้ขยายตัวแค่ 1.8% และปีหน้า อาจขยายตัวลดลงเหลือ 3.9% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง และประมาณการปีนี้ไทยพลิกขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุลบัญชีสะพัด 1,200 ล้านดอลลาร์ และการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ที่ล่าช้าและไร้ทิศทาง ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นได้อีก

แหละนั่นทำให้ “ตลาดหุ้นไทย” อาจต้องเผชิญ “ความผันผวนเชิงลบ” ได้เช่นกัน..!!??

Back to top button