พาราสาวะถี

แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ทักษิณ ชินวัตร กับ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารประเทศ เอาแค่สิ่งที่ทั้งคู่ทำในวันดังกล่าว คนแดนไกลลูกชายลูกสาว 3 คนพากันเปิดตัวเว็บไซต์ THAKSIN official แหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของอดีตผู้นำ วิสัยทัศน์ และการเปิดช่องทางถามตอบรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย


แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ทักษิณ ชินวัตร กับ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารประเทศ เอาแค่สิ่งที่ทั้งคู่ทำในวันดังกล่าว คนแดนไกลลูกชายลูกสาว 3 คนพากันเปิดตัวเว็บไซต์ THAKSIN official แหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของอดีตผู้นำ วิสัยทัศน์ และการเปิดช่องทางถามตอบรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

ขณะที่ในประเทศไทยผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจออกประกาศยกเลิกคำสั่งปิดปากสื่อปิดปากประชาชน หลังจากที่ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพียงจุดเดียวก็ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนแล้วว่าระหว่างผู้นำที่มาจากการเลือกของประชาชนกับคนที่ยึดอำนาจเข้ามานั้น ทัศนคติที่มีต่อผู้เห็นต่างเป็นอย่างไร สร้างความเชื่อมั่น เรียกความศรัทธาจากประชาชนไม่ได้ ก็ตั้งป้อมจะปิดหู ปิดตาประชาชนเพียงอย่างเดียว

หนนี้หากเป็นเพียงแค่การพุ่งเป้าเล่นงานไปที่ข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ในโซเซียลมีเดียเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะไม่มีแรงกดดันมหาศาลขนาดนี้ แต่ดันย่ามใจเรียกสื่อไปคุยเรื่องโควิด-19 ขอความร่วมมือแล้ว คิดว่าสื่อทั้งหลายสยบยอมจึงออกคำสั่งมาปิดปากเอาเสียดื้อ  ๆ จึงกลายเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวจากองค์กรวิชาชีพทั้งหลาย มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันหลายแห่ง จนกระทั่งมีกลุ่มหนึ่งที่ไปร้องต่อศาลแพ่ง ทว่าเมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยกเลิกคำสั่งตัวเองแล้วจบกันไม่น่าจะเพียงพอ

เพราะนี่ถือเป็นบทเรียนสำหรับสื่อ และสะท้อนให้เห็นภาพของเผด็จการสืบทอดอำนาจที่หาหนทางในการที่จะปิดปากคนเห็นต่าง ปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงหลากหลายด้านกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้สมควรที่องค์กรวิชาชีพสื่อจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามความเคลื่อนไหว ตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายกุมอำนาจที่จ้องจะแทรกแซงการทำงานของสื่ออย่างเข้มข้น มิเช่นนั้น ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

จะเห็นได้ว่าแม้แต่คำขอโทษก็ยังไม่มีหลุดออกมาจากปากของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือพวกทำหน้าที่กระบอก เสียงของรัฐบาล จากคำสั่งของศาลแพ่งนั้นชัดเจนว่านี่เป็นการกระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์อย่างชัดเจน องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลายควรต้องเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบจากฝ่ายกุมอำนาจว่าจะการันตีไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ เกิดขึ้นอีกหรือไม่ หรือสิ่งที่ตัดสินใจทำไปแล้วและเป็นความผิดชัดเจนจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร

คงเป็นเรื่องยากกับฝ่ายบริหารที่วางทุกอย่างในการบริหารประเทศมาจากอำนาจเผด็จการ เมื่อองค์กรตรวจสอบอ่อนแอหรือแทบจะเรียกว่าเป็นง่อยไปแล้ว เพราะติดคำว่าบุญคุณมันจึงเป็นเรื่องของสื่อมวลชนที่จะต้องทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันภาคประชาชนที่มีช่องทางในการสื่อสารหลากหลายมากขึ้น ก็ถือเป็นอีกแรงที่แข็งขัน หลายครั้งหลายหนก็ก่อให้เกิดกระแสจนทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อกลับหลังหันแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่สังคมต้องติดตามตรวจสอบกันอย่างใกล้ชิดต่อไป กับ พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ถูกมองว่าเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง อย่างที่รู้กันตั้งต้นมาจากกระทรวงสาธารณสุขจากการสุมหัวคิดของหมอการเมือง และป่าวประกาศโดย อนุทิน ชาญวีรกูล เจ้ากระทรวง ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีที่คำพูดคำจาไม่สมราคากับการที่เป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของประเทศ

กับปมกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน เจ้าตัวตอบคำถามสื่อแบบมีอารมณ์เป็นการออกกฎหมายมาเพื่อป้องกันคนหัวใสฟ้องร้องเอาผิดคนทำงาน แต่ก็ไม่คิดว่าจะมี “คนหัวขี้เท่อ” จ้องเล่นแต่การเมืองบนความเหนื่อยล้าของคนทำงาน แพทย์หรือจิตอาสาที่เข้ามาทำงานด้วยความเต็มใจ แน่นอนว่า ย่อมมีคนตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ถ้ามันไม่มีลับลมคมในใด  ๆ คงไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ แต่มันมีการพ่วงเอาเรื่องการปกป้องพวกที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนไปด้วยเจตนามันชัดเจน

ยิ่งการอธิบายโดยอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ออกมาเพื่อคุ้มครองใครคนใดคนหนึ่ง นั่นยิ่งทำให้เห็นถึงเจตนาที่พยายามจะเอาคนหมู่มากมาปกป้องคนแค่หยิบมือที่ผิดพลาดล้มเหลวจากการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน ตรงนี้ต้องยอมรับความเป็นจริง ส่วนที่พูดคำว่าคนหัวขี้เท่อนั้น ก็อยากให้ย้อนกลับไปดูคำพูดของตัวเองเรื่อง “ไข้หวัดกระจอก” และส่องกระจกดูการบริหารงานต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นกับเสียงก่นด่าของประชาชน “บริหารแบบเฮงซวย” อย่างไหนที่สมควรถูกประณามมากกว่านั้น

กรณีนี้แม้แต่ อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาลที่ตอบคำถามสื่อแทนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหลังประชุม ครม.ยังอึกอัก ก่อนที่จะโยนว่าเรื่องยังไม่ไปถึงไหน ต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ที่สำคัญคือคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกอาการกันแบบนี้ก็พอดีที่จะเดาได้ว่าปลายทางคงมีการกลับลำกันอย่างแน่นอน และมั่นใจได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานด้วยความสุจริต มุ่งมั่นต่อการช่วยเหลือประชาชนนั้น ไม่ได้สนใจต่อเรื่องนี้แม้แต่น้อย ยกเว้นพวกขี้ข้าการเมืองสอพลอ

นอกจากนั้น หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าออกกฎหมายแบบนี้มาเพื่อปกป้องคนส่วนใหญ่ ทำไมไม่ใช้ช่องทางการออกกฎหมายโดยอำนาจนิติบัญญัติ ด้วยการออกเป็น พ.ร.บ. การรวบรัดตัดตอนออกเป็น พ.ร.ก.เช่นนี้มันย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้คนส่วนใหญ่แสดงความกังขาได้ เหมือนที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ว่า นี่กำลังหาทางออกให้ตัวเองหรือไม่ บุคลากรทางการแพทย์คงไม่มีใครติดใจที่จะให้กฎหมายเป็นเกราะป้องกันการฟ้องร้อง ดังนั้นวิธีการคือต้องมาคุยกันก่อนเปิดประชุมรัฐสภาปรับแก้ อย่าเอาแต่ใจและไม่ยอมรับการตรวจสอบ อย่าติดเชื้อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ

Back to top button