เปิดโผหุ้นนิคมฯ รับอานิสงส์เขตส่งเสริมศก.พิเศษ

ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมจำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 1 แห่ง


เส้นทางนักลงทุน

จากกรณี ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมจำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 1 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และรองรับการลงทุนในอนาคตต่อไป

สืบเนื่องจากในปัจจุบัน พื้นที่ใน EEC มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้าจำนวน 15,836 ไร่ ซึ่งมีการประเมินว่าจะรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปีเท่านั้น จึงต้องมีการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง

โดยแบ่งเป็น 1. การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 6,884 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการได้ประมาณ 5,098 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท ภายใน 10 ปี (พ.ศ. 2564–2573)

ทั้งนี้ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง, นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่  รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบิน โลจิสติกส์ และดิจิทัล และนิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ถัดไป 2. เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง คือ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง ตั้งเป้าหมายการลงทุน 20,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี (พ.ศ. 2564–2573)

ส่วน 3. เปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง คือ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) โดยเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้พื้นที่รวมของศูนย์มีทั้งสิ้น 585 ไร่ จากเดิม 566 ไร่

สำหรับจากกรณี ครม.ไฟเขียวจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่ม 6 แห่ง มองเป็นบวกต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขต EEC

อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจข้อมูลจากบทวิเคราะห์ต่าง ๆ พบว่าในส่วนของ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะรับข่าวดีที่ ครม. เห็นชอบให้จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง เป็นบวกกับหุ้นอย่าง บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP และ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW

เช่นเดียวกับทางด้าน บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ระบุว่าจาก ครม.ไฟเขียวจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง เป็นบวกกับหุ้นอย่าง บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO

ขณะที่ทางบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ประเมินว่า บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA จะได้ประโยชน์เนื่องจาก 2 ใน 6 นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ โรจนะแหลมฉบัง 698 ไร่ และโรจนะหนองใหญ่ 1,501 ไร่ นอกจากนั้นแนวโน้มการขายที่ดินในนิคมฯ ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 ถึงปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมากเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 จากการที่ลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะสัญชาติจีนเริ่มเข้ามาเซ็นสัญญา ทำให้บริษัทมี backlog กว่า 100 ไร่

ขณะเดียวกันคาดไตรมาส  4 ปี 2564 จะยังคงดีต่อเนื่องจากการเปิดประเทศ (Re-Opening) โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายปีนี้อยู่ที่ 300 ไร่ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดที่ตั้งเป้าการขายที่ดินอยู่ที่ 400-500 ไร่ต่อปี พร้อมกับยังประมาณการรายได้และกำไรสุทธิของ ROJNA ในปี 2564-2566 รายได้หลักกว่า 80% ของ ROJNA มาจากการขายไฟฟ้าให้กับ EGAT และโรงงานในนิคมฯ และมองว่ารายได้จากการขายที่ดินจะเป็นปัจจัยหนุน

สอดคล้องกับตัว บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA สะท้อนจาก น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เปิดเผยว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ในพื้นที่เขตอีอีซี โดยมีของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จ.ระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ ซึ่งจะรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบิน และโลจิสติกส์นั้น โดยในขั้นตอนแรกจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นั้น ๆ ก่อน ซึ่งมองว่ารายได้ในส่วนดังกล่าวจะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากพัฒนาแล้วเสร็จ

ส่วนแนวโน้มรายได้ในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการหรือพื้นที่ที่เตรียมไว้อยู่แล้ว แต่สำหรับนิคมใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจะต้องรอการพัฒนาก่อน ขณะที่แนวโน้มรายได้ปีนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะเติบโตได้กว่า 30% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมองว่า เศรษฐกิจหลังจากนี้จะเริ่มฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 3/2564 ที่ผ่านมา และเชื่อว่าการลงทุนจะเริ่มทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้น

โดยปัจจุบันบริษัทมีทั้งหมด 10 นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี รวมถึงยังมีพื้นที่ที่พัฒนาและสร้างใหม่ทุกปี ซึ่งพร้อมที่จะรองรับเปิดขายได้ทันที ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีแลนด์แบงก์อยู่ทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ ซึ่งพัฒนา infrastructure รองรับการขายที่พร้อมทั้งหมด 5,000 ไร่ และส่วนที่เหลืออีก 5,000 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขออนุมัติจากการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างบริษัทที่ทางนักวิเคราะห์ประเมินว่าจะได้รับอานิสงส์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง!!!

Back to top button