พาราสาวะถี

รอยร้าวภายในแก๊ง 3 ป.ประสานกันไม่ติด ขณะที่แรงกระเพื่อมภายในพรรคยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นชะตากรรมของท่านผู้นำวตกมาอยู่ในมือของส.ส.


สถานการณ์ทางการเมืองในสภาเป็นสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นจุดชี้วัดเสถียรภาพของรัฐบาลเรือเหล็ก สนิมที่เกิดแต่เนื้อในเมื่อคราวศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ยังคงกัดกร่อนบ่อนเซาะ รอยร้าวภายในแก๊ง 3 ป.ประสานกันไม่ติด ขณะที่แรงกระเพื่อมภายในพรรคสืบทอดอำนาจก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นชะตากรรมของท่านผู้นำจากเดิมที่กำหนดด้วยตัวเองจากกลไกของขบวนการอำนาจสืบทอดที่วางกันไว้ วันนี้ตกมาอยู่ในมือของสภาที่มีส.ส.เป็นตัวกำหนด

อย่าลืมเป็นอันขาด รอยบาดหมางที่เกิดกับ ธรรมนัส พรหมเผ่า การถูกเขี่ยพ้นรัฐมนตรีไม่มีใครที่จะยอมรับได้ ภาพความสงบที่เกิดขึ้นย้ำมาตลอดว่าเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วคราว ความเคลื่อนไหวในสภากับการพิจารณากฎหมายสำคัญต่าง ๆ ห้ามกระพริบตากันเด็ดขาด เพราะเป็นช่วงจังหวะเวลาของการเอาคืน หากต้องการให้ทุกอย่างผ่าน จากที่เคยขอหรือขู่กันได้ เวลานี้มันไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป ทุกอย่างต้องมีต้นทุนในการขับเคลื่อนทั้งสิ้น

นั่นหมายความว่า พี่ใหญ่คือผู้กุมชะตากรรมของน้องเล็ก โดยที่มีธรรมนัสซึ่งถูกหมายหัวและตามล้างตามเช็ดกันไม่จบ ถึงขนาดจะขับพ้นจากความเป็นเลขาธิการพรรคสืบทอดอำนาจเสียด้วยซ้ำ จากจำนวนส.ส.ในสังกัดที่มีถือว่ามากพอ ก็กลายเป็นผู้ที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไม่ไว้หน้ากันจะมาขอกันกินอีกไม่ได้ เป็นเรื่องลำบากใจสำหรับพี่ใหญ่ แต่เมื่อน้องรองและน้องเล็กเลือกที่จะเล่นเกมจัดหนักกันก่อน ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนเมื่อถูกอีกฝ่ายเอาคืนอย่างเจ็บปวด

หนทางเดียวที่จะพ้นไปจากภาวะเช่นนี้คือการยุบสภา มาถึงนาทีนี้บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายไม่มีใครกลัวอีกแล้ว เพราะไม่ใช่สถานการณ์ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้รับการถือหางอย่างน่าเกรงขามหรือคะแนนนิยมสูงเหมือนช่วงที่สวมหัวโขนหัวหน้าคสช. นับวันมีแต่สาละวันเตี้ยลง ยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เช่นนี้ ยิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ฝ่ายนักการเมืองยิ่งชอบ เนื่องจากจะมีทางเลือกและข้อเสนอให้พิจารณาที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของบ้านเมืองหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นล้มล้างการปกครองจากการชุมนุมของม็อบคนรุ่นใหม่และ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่คิดว่าทุกอย่างจะจบด้วยอำนาจที่ตัวเองมีและข้อกฎหมายที่จะปิดปาก ใครก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อฝ่ายเคลื่อนไหวไม่ยอมรับผลที่ออกมา ส่วนฝ่ายถือหางเผด็จการย่อมอาศัยจุดนี้มาโจมตีเพื่อด้อยค่าฝ่ายตรงข้าม ถึงขนาดพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์อาสาที่จะช่วยศาลรัฐธรรมนูญจับผิดพวกวิจารณ์กันเลยทีเดียว

หากติดตามขบวนการคนหนุ่มสาวที่เรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตลอด จะเห็นได้ว่าคนเหล่านั้นไม่ได้หวาดกลัวหรือหวั่นไหวต่อการถูกดำเนินคดีหรือจับกุม คุมขังแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำวานนี้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มปฏิรูปสถาบัน และองค์กร-เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ยังได้นัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในนาม “กลุ่มไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” พร้อมมีการอ่านแถลงการณ์ต่อต้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอีกต่างหาก

ขณะที่แถลงการณ์ดังกล่าวยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อไม่มีวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนตำแหน่งประมุขให้เป็นอย่างอื่นนอกจากพระมหากษัตริย์ ความจริงประเด็นเรื่อง ปฏิรูป กับ ล้มล้าง หากศาลรัฐธรรมนูญจะไปเปิดพจนานุกรมดูความหมายก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

ไม่เพียงเท่านั้น แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ไม่สามารถยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้อำนาจไม่สุจริต เป็นการอ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำจัดศัตรูทางการเมือง ดังนั้นการใช้อำนาจจึงต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย การที่ศาลใช้อำนาจเกินขอบเขต เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจนี้จึงไม่ถือว่าเป็นที่สุด และเห็นว่าอำนาจนี้ไม่เป็นการผูกพันองค์กรใด

ขณะเดียวกัน มีความเห็นจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ต่อคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า ไม่ทราบว่าคนเหล่านี้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญหน้าที่หลักคือการตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อความในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับในโลกนี้มีบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเข้ามาวัดและตีความให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คำตอบคือศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความให้เอื้อต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ถ้าจะตีความเพื่อไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน “คุณก็ไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คุณอาจจะเป็นรามัล หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำโทษคน” อาจจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่คุณอยากจะเป็น แต่ไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือการตีความสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่กระเทือนต่อประโยชน์ของสังคม ประโยชน์ของบุคคลอื่น ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านั้นใช้มาตรฐานอะไรในการตีความ ถ้าเช่นนั้นใคร ๆ ก็เป็นศาลรัฐธรรมนูญได้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลในมุมของนิธิซึ่งก็คงไม่ต่างจากที่คนจำนวนไม่น้อยเป็นห่วงก็คือ คำวินิจฉัยที่คิดว่าจะยุติและนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย จะเกิดผลตรงกันข้ามด้วยซ้ำ คนรู้สึกโกรธเอามาก ๆ และรู้สึกว่าจำเป็นต้องออกมาแสดงออกมากขึ้น มีกลุ่มคนที่นัดชุมนุมกันแล้ว ยิ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรงขึ้น คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการบอกให้รู้ว่าเรื่องทั้งหมดจะจบลงอย่างไร เป็นการบัญญัติหรือกำหนดว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร ตนยังมีความหวังอย่างก่อนวินิจฉัยว่าอาจจะจบได้โดยทำลายล้างกันและกันน้อยหน่อย แต่คำตัดสินที่ออกมาทำให้ไม่มีทางจบเป็นอย่างอื่น

Back to top button