‘โอมิครอน’ ส่อกระทบกลุ่มท่องเที่ยว Q1/65

โบรกเกอร์ฯปรับน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวลงเป็นเท่ากับตลาด และมองว่าควร wait & see ออกไปก่อนในระยะสั้นช่วง 1-3 เดือนนี้ จากความกังวลต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน”


เส้นทางนักลงทุน

เริ่มมีบทวิเคราะห์ออกมาจาก บล. เคทีบีเอสที ว่ามีความกังวลมากขึ้นจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” โดยพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ แต่ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดแล้วใน 47 ประเทศ โดยพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศแล้วทั้งหมด 15 ประเทศ และพบผู้ติดเชื้อจากผู้เดินทางอีก 32 ประเทศ (รวมในประเทศไทยด้วย)

สำหรับผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทย 1 คน เป็นคนไทยเดินทางมาจากสเปนแต่ได้มีการกักตัวเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ทั่วโลกยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ถึงจะรู้รายละเอียดของโอมิครอนเพิ่มเติม

ผลดังกล่าวยังคงทำให้ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที มีการปรับน้ำหนักการลงทุนลงเป็น “เท่ากับตลาด” จากเดิมที่ “มากกว่าตลาด” และมองว่า “หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว” ควร wait & see ออกไปก่อนในระยะสั้นช่วง 1-3 เดือนนี้

เนื่องจากยุโรปเริ่มทยอย Partial lockdown จากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยประเทศเนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย ที่ประกาศ lockdown ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2564 ส่วนเยอรมันที่จำนวนผู้ติดเชื้อทำ New high อย่างต่อเนื่องที่ระดับ 7.6 หมื่นคนต่อวัน จากช่วงสูงสุดในปีก่อนที่ 3.2 หมื่นคนต่อวัน ทำให้มีการ partial lockdown และห้ามให้ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข้าในพื้นที่ปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า ขณะที่สเปน และอิตาลีมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่รุนแรงเท่าเยอรมันและไม่ทำจุดสูงสุดใหม่

ส่วน UK จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน แต่ยังไม่ทำจุดสูงสุดใหม่มาอยู่ที่ 5.3 หมื่นคนต่อวัน จากจุดสูงสุดในปีก่อนที่ 6.3 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ยังไม่มีการ lockdown หรือห้ามการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่เริ่มมีผู้ติดเชื้อจากโอมิครอนสูงขึ้น 50% มาอยู่ที่ 54 คนใน 1 วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เชื่อว่าจะไม่มีการใช้มาตรการ Full lockdown เหมือนที่เคยใช้ในช่วงที่เกิดโควิดระยะแรกอีกแล้ว จะเป็นการใช้ Partial lockdown ในบางพื้นที่มากกว่า ประกอบกับมองว่าคนเริ่มปรับตัวอยู่กับโควิดได้แล้วในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ในไตรมาส 4 ปี 2564 ยังมี potential demand จากไทยและมัลดีฟส์ยังเป็น high season แต่มีการประเมินว่าไตรมาส 1 ปี 2565 จะเห็นผลกระทบจากโอมิครอนเต็มไตรมาส

อย่างไรก็ดีมีข้อมูลน่าสนใจจากฝ่ายวิเคราะห์ที่มีการสอบถามไปยัง บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR พบว่ายังไม่มีการยกเลิกห้องพักตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวโอมิครอน มีเพียงการยกเลิกการใช้ห้องประชุมและห้องจัดเลี้ยงมากกว่า

โดยในประเทศไทยยังคงเห็น potential demand ในการท่องเที่ยวอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่สามารถขับรถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่าง พัทยาและหัวหิน ซึ่งยังคงมี Occupancy rate ในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 อยู่ในระดับสูงราว 40% จากไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ 20% ส่วนที่มัลดีฟส์ยังคงเป็นช่วง high season ซึ่ง Occupancy rate ในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 75-80% จากไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ 65%

ส่วนฝากฝั่งยุโรป แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมี pent-up demand และเป็นช่วง Festival ทำให้คนยังเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นปกติ เพียงแต่ต้องมีการใส่หน้ากากในจุดที่เป็นพื้นที่ปิดเพิ่มเติม โดย Occupancy rate ในเดือน ต.ค. 2564 ยังคงทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ 68-70% ขณะที่ยังไม่เห็นตัวเลขเดือน พ.ย. 2564 แต่คาดว่าจะยังทรงตัวได้ต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบช้ากว่าธุรกิจโรงแรม โดยสาขาเดิม (SSSG) ในไทยยังคงเห็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องเป็นบวกเล็ก ๆ ถึงทรงตัว เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนได้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 จากไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ลดลง 20% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ภาพรวมยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 2564 ของกลุ่มท่องเที่ยว ERW, CENTEL, MINT และ SHR อาจฟื้นตัวขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ บล. เคทีบีเอสที ประเมินว่ากลุ่มท่องเที่ยว ERW, CENTEL, MINT และ SHR คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 จะได้รับผลกระทบจากโอมิครอนเต็มไตรมาส ทำให้มีโอกาสที่จะปรับประมาณการลดลงในปี 2565 ราว 10-20% หากสถานการณ์ของโอมิครอนรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม มีการปรับน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยวลงเป็น “เท่ากับตลาด” จากเดิมที่ “มากกว่าตลาด” เพราะ มองเห็นความเสี่ยงมากขึ้นจากโอมิครอน ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มท่องเที่ยวไม่มี Top pick ในช่วง 3 เดือนนี้เพราะมีความเสี่ยงสูงจากโอมิครอนที่ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนสามารถจัดการได้

ผลที่คาดว่าน่าจะใช้เวลาราว 1-3 เดือนกว่าจะพัฒนาวัคซีน หรือยาเพื่อต้านโอมิครอนได้ แต่เชื่อว่าจะมีวัคซีนและยาที่ช่วยได้ และพัฒนาได้เร็วกว่าช่วงแรกที่เจอโควิด เพราะเป็นแค่การต่อยอดในการพัฒนาไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

ถือว่าเป็นการประเมินเบื้องต้นหาก “โอมิครอน” มีการระบาดเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศอาจมีการประกาศล็อกดาวน์ ก็มีโอกาสกระทบไปยังกลุ่มท่องเที่ยวอีก?

Back to top button