ผู้ว่าสีไหนก็จับหนูได้?

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลาออกจากอธิการบดีเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง หอบโปรไฟล์ลงสมัครผู้ว่า กทม.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์


สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลาออกจากอธิการบดีเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง หอบโปรไฟล์ยาวเฟื้อยลงสมัครผู้ว่า กทม.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดี๊ด๊าคึกคักราวกับฟื้นคืนชีพจากไบกอน

แน่นอนว่า ปชป.ซึ่งสูญพันธุ์ใน กทม. เมื่อครั้งเลือกตั้ง 62 ต้องการแย่งฐานเสียงคืน จึงโชว์ฟอร์มว่า พรรคการเมืองที่บอยคอตเลือกตั้ง 2 ครั้ง อดีต ส.ส.ปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งปูทางรัฐประหาร ซ้ำยังถีบหัวส่งหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉีกสัญญาประชาคม “ไม่เอาประยุทธ์” เข้าร่วมรัฐบาล ก็ยังสามารถดึงคนเก่งหล่อเท่อย่าง “พี่เอ้” ขวัญใจนักศึกษา มาลงผู้ว่า กทม.ได้

ทำให้คนรุ่นลุงป้าปลาบปลื้ม เห็นไหม คนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกไอ้พวกสามกีบก้าวไกลล้างสมองเสียหมดหรอก เดี๋ยวคงจะเลือก “พี่เอ้” กันล้นหลาม เผลอ ๆ จะสร้างปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพี่เอ้”

อย่างไรก็ดี พรรคพลังประชารัฐยอมไม่ได้เช่นกัน เลือกตั้งผู้ว่า กทม. มีนัยสำคัญต่อเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ต้องหาคนเด่นดังแข่งกัน จึงมีข่าวทาบทาม “ผู้ว่าหมูป่า”

เป็นรัฐบาลด้วยกันก็ยอมกันไม่ได้นะ อย่าลืมว่า เลือกผู้ว่าต้องเลือก สก.ไปพร้อมกัน สก.มีความสำคัญต่อ “ฐานเสียงจัดตั้ง” ดูแลอุปถัมภ์งานศพงานบวชชุมชนต่าง ๆ แม้เลือกตั้ง กทม.ขึ้นกับกระแสนิยม แต่ฐานจัดตั้งก็มีผลราว 15-20%

ครั้งที่แล้ว ปชป.สูญพันธุ์ด้วย 3 ปัจจัย หนึ่ง คนเกลียดแม้วเทให้ประยุทธ์ สอง คนกลับใจเลือกอนาคตใหม่ สาม สก.หลายรายย้ายไป พปชร. เช่นเมียรัฐมนตรีดีอีเอส ดังนั้นแม้เป็นรัฐบาลด้วยกัน ส.ส.พปชร. 12 คนก็ยอม ปชป.ไม่ได้หรอก

ที่สำคัญ พปชร.กับ ปชป.แข่งกันทั้ง กทม.และภาคใต้ โพลตีปี๊บจุรินทร์เป็นนายกฯ ไม่ใช่ไร้ความหมาย ปชป.หวังช่วงชิงคะแนนฝ่ายอนุรักษ์คืนในความเสื่อมของประยุทธ์ และความแตกแยกของ พปชร.

ฝั่งฝ่ายค้านก็หลีกทางกันไม่ได้เช่นกัน แม้พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มไม่ส่งผู้ว่า ส่งเพียง สก. พรรคก้าวไกลก็ต้องส่งทั้งผู้ว่าและ สก. โดยยังมีไทยสร้างไทย “เจ้าแม่ กทม.” ซึ่งทิ้งฐานเสียงไม่ได้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงสมัครอิสระ ไม่ใช่ในนามเพื่อไทย แต่มีความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยติดหลัง มีสภาพก้ำกึ่งเสมือนเป็น “ตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย” คือเป็นที่นิยมของมวลชนทั้งคนเลือกเพื่อไทยเลือกอนาคตใหม่ แต่ไม่ผูกพันกับพรรค ไม่อยู่ในกำกับของพรรค

ด้านหนึ่งมีข้อดี อีกด้านก็ทำให้ฝ่ายค้านอึกอัก เพื่อไทยยังพอทำเนา แต่ก้าวไกลเลี่ยงไม่ได้ ก้าวไกลมี ส.ส.กทม. 9 คน แม้บางคนกลายเป็นงูเห่า แม้คะแนนส่วนหนึ่งมาจากไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่ 3 ปีผ่านไปก็ได้คะแนนคนรุ่นใหม่ซึ่งต้องการพิสูจน์พลัง ก้าวไกลจำเป็นต้องส่งแม้ลำบากใจว่าตัดคะแนนกันเอง

การเลือกตั้ง ส.ส.กับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นต่างกัน ตรงที่อย่างหลังเป็นการเลือกผู้บริหารโดยตรง ประชาชนมักให้น้ำหนักกับตัวบุคคล มากกว่าเลือกพรรคเลือกอุดมการณ์ทางการเมือง เช่นถ้าเป็น อบจ. อบต. เทศบาล ก็ให้น้ำหนักความใกล้ชิดผูกพัน การอุปถัมภ์ดูแล ระบบ “บ้านใหญ่”

การเลือกผู้ว่า กทม. ในบรรยากาศ “ชัชชาติ Vs สุชัชวีร์ Vs ผู้ว่าหมูป่า ฯลฯ” อาจดูเหมือนแข่งขันระหว่างเทคโนแครต โชว์โปรไฟล์ ประชันความรู้ความสามารถ โดยไม่ดูพรรคหรืออุดมการณ์ทางการเมือง “แมวสีไหนก็ได้ขอให้จับหนูเก่ง”

แต่สนาม กทม. ท้ายที่สุดก็ฟาดฟันกันด้วยการเมืองเชิงอุดมการณ์เสมอ ปชป.เองก็ใช้สโลแกน “ไม่เลือกเราเขามาแน่” จนชนะโค้งสุดท้าย ทั้งที่ประชาชนเบื่อผู้ว่าฯ คนเดิมแทบแย่ แม้แต่อัศวิน ขวัญเมือง ที่คนกรุงสุดเซ็งวันนี้ ก็มาจาก ปชป. ต่อเนื่องด้วยคำสั่ง คสช.

ดังนั้นจะบอกให้เลือกตัวบุคคลโดยไม่ดูว่าเป็นตัวแทนพรรคสืบทอดอำนาจรัฐประหาร หรือพรรคตระบัดสัญญาประชาคม ก็คงหลอกได้แค่คนที่ไม่ตระหนักว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับอนุรักษนิยม

Back to top button