หุ้นแสวงบุญ??

การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของ FSS จากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมคือ FNS ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มฟินันซ่า ไม่ใช่เรื่องแปลก


การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS จากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมคือ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มฟินันซ่า ไม่ใช่เรื่องแปลก

ส่วนเหตุผลในการทิ้งธุรกิจหลักทรัพย์ก็ไม่แปลกเช่นกัน เพราะกลุ่มฟินันซ่านั้นเติบโตมาจากพันธมิตรส่วนบุคคลระหว่างนายวราห์ สุจริตกุล และนายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ นักการเงินที่หวังใช้ความสามารถด้านวาณิชธนกิจเป็นเครื่องมือในการเติบโต ผ่านธุรกรรมซื้อขายและปรับโครงสร้างกิจการอยู่แล้ว

การขายหุ้นของ FNS ใน FSS เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทยเพราะว่าเดิมทีนั้น FSS ถูกถือหุ้นโดย FNS ทางอ้อมโดยผ่านบริษัทในเครือข่ายคือฟินันซ่า (เคย์แมน) ด้วยเหตุผลทางด้านภาษีอยู่แล้ว การย้ายหุ้นส่วนใหญ่จากบริษัทในเคย์แมน มาเป็นสิงคโปร์ จึงเป็นเรื่องเข้าใจกันได้อีกเช่นกัน

ราคาหุ้นของ FSS ก่อนการประกาศข่าวเรื่องเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ครั้งนี้ วิ่งพรวดขึ้นมาต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์ ถึงจุดสูงสุดที่ระดับแถว 4.78 บาท โดยที่แรกสุด ตลาดคาดเดาว่า เป็นแรงซื้อเก็งกำไรของนักลงทุน หลังจากมีกระแสข่าวว่าผู้บริหารของ FSS ประกาศว่า ปี 2565 เตรียมขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเฉพาะบริการซื้อขายและเป็นที่ปรึกษาทางด้านออก ICO ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอีกครั้ง

นับตั้งแต่กลุ่มฟินันซ่าขยับตัวเข้าซื้อกิจการในเดือนสิงหาคม 2545 โดยเปลี่ยนชื่อจาก “บริษัทหลักทรัพย์ ไซรัส จำกัด (มหาชน)” เป็น “บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552 และเปลี่ยนแปลง ชื่อย่อ หลักทรัพย์จากเดิม SYRUS” เป็น FSS” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2552 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หลังการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัทหลักทรัพย์ ไซรัส จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 …แต่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนก็ไม่ใช่ข่าวร้ายแต่อย่างใด

ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทีมผู้บริหารจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่จากทีมที่ปัจจุบันนำโดยนายช่วงชัย นะวงศ์ เป็นซีอีโอใหญ่

ข้ออ้างที่ว่า ฟินันซ่ามองเห็นอนาคตของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผันผวน จึงถอนตัวออกมา จึงเป็นแค่ข้ออ้างแบบสูตรสำเร็จเท่านั้น

สิ่งที่เป็นปริศนาก็คือ กลุ่มที่ใช้เงินกู้จากสิงคโปร์ มาซื้อกิจการของ FNS เป็นใครมาจากไหน และใช่นอมินีของฟินันซ่าหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกันต่อไป

ที่สำคัญ บริษัทที่รับช่วงต่อจากกลุ่มฟินันซ่านั้น จะมีทิศทางอย่างไรและวางเป้าหมายอย่างไรกับการทุ่มเงินซื้อกิจการไป ในราคาหุ้นละ 4.07 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 692,998,810.46 บาท ให้แก่ Pilgrim Finansa Investment Holding Pte.Ltd (PFIH) ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศสิงคโปร์ เพื่อซื้อกิจการไปทำต่อในราคาที่สูงกว่าปกติ แล้วอาจจะต้องใช้เงินจำนวนเท่า ๆ กันมาทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์

ถึงเวลานั้นก็คงรู้ทิศทางของบริษัท FSS ว่าเป็นอย่างไรว่าเป็นการซื้อกิจการเพื่อทำตัวเป็นนักบุญหรือทำกำไรต่อกันอยู่

ตอนนี้ก็คาดเดากันไปครับ

Back to top button