ดอกเบี้ยขาขึ้นระดับโลก

เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรการ QE มีจุดหมายมุ่งการตอบสนองต่อวิกฤตและภาวะถดถอยในช่วงเวลาแห่งความตื่นตระหนกและความผิดปกติอย่างรุนแรง


ราคาเนื้อหมูในประเทศที่แพงลิ่ว ผสมกับวัตถุดิบผลิตอาหาร (ยกเว้นราคาข้าว) และราคาปุ๋ยเคมีและกล้วยน้ำว้า เกี่ยวข้องกันกับอัตราบอนด์ยีลด์กับ Exit Strategy ของเฟด อย่างไร

คำตอบอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยโลกที่กำลังจะเป็นขาขึ้น เพราะอัตราเงินเฟ้อเนื่องจาก demand-pulled กำลังจะกลายเป็นสิ่งเลี่ยงได้ยาก หลังการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือบอนด์ยีลด์ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1.75% หลังจากแกว่งตัวเพื่อดูทิศทางอยู่ที่ระดับ 1.51% ในช่วงสิ้นปี 2564

การทะยานขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนธ.ค. ซึ่งระบุว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ เฟดส่งสัญญาณว่าจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลหลังจากที่ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่านอกจากเฟดจะซื้อพันธบัตรในอัตราที่ลดลงจากการลดวงเงิน QE เฟดยังจะขายพันธบัตรที่ถือครองอยู่ออกมาเพื่อลดขนาดงบขาดดุลของเฟดด้วย ซึ่งขณะนี้พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า เฟดมีแนวโน้ม 80% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค.

กรณีเฟดยุติโครงการ QE ซึ่งเป็นการเริ่มกลยุทธ์ที่เรียกว่า Exit Strategy ที่ส่งผลรุนแรง หลังอัตราว่างงานต่ำสุดเกือบ 2 ปี อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเฟดเคยพยายามใช้กลยุทธ์ Exit Strategy เมื่อสองปีก่อนมาแล้ว แต่ยกเว้นไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหวนกลับมาหาโครงการ QE ครั้งล่าสุด

สถานการณ์ที่การว่างงานต่ำกว่ามาตรฐานต่ำสุด (5.5%) และการลงทุนใหม่เพื่อรับมือกับช่วงหลังภาวะกำลังการผลิตต่ำเกิน ทำให้ถึงเวลาของการปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจทำงาน จึงถือว่าเป็นการปิดยุคดอกเบี้ยต่ำติดพื้นและกับดักสภาพคล่องของยุคเงินฝืดเรื้อรังอันยาวนานอย่างเป็นทางการอันยาวนานมาตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี ค.ศ. 2008

ท่าทีของเฟด เป็นเรื่องความเป็นไปได้ที่คาดเดาว่าต้องเกิดขึ้น เพราะว่าการแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนโยบายการคลังและการเงินมาถึงขีดจำกัดในตัวเองมากขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรการ QE มีจุดหมายมุ่งการตอบสนองต่อวิกฤตและภาวะถดถอยในช่วงเวลาแห่งความตื่นตระหนกและความผิดปกติอย่างรุนแรง ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่มีปมปัญหาตามมา

ผลพวงคือ อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ถูกกดให้ต่ำติดพื้น กลายเป็น ”กับดักสภาพคล่อง” ทั่วโลกโดยปริยาย ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำยาวนานและเกิดภาวะการออมมากกว่าการบริโภคยาวนานเช่นกัน

การดีดตัวพุ่งแรงของบอนด์ยีลด์ แล้วตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น ราคาน้ำมันดิบ ราคาทองคำ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซับซ้อน จึงมีทั้งด้านบวกและลบผสมผสานกันไป ตามตัวแปรที่เปลี่ยนไปมาก จึงเป็นทั้งการคุกคามและโอกาสที่จะเกิดขึ้น

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่มีแต่ดีหรือเสียด้านเดียว การอยู่กับความคุ้นเคยใหม่จึงต้องเกิดขึ้น…ไม่ว่าเราจะชอบหรือชังก็ต้องเดินหน้าใช้ชีวิตกันต่อไป

Back to top button