‘บัฟเฟตต์’ ยัง ‘ยืนหนึ่ง’

ในบรรดามหาเศรษฐี 10 อันดับแรก มีเพียง วอร์เรน บัฟเฟตต์ เท่านั้นที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์


หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณอย่างจริงจังว่าจะมุ่งมั่นควบคุมเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ด้วยการเข้มงวดนโยบายเงิน และจะลดการซื้อพันธบัตร และลดงบดุล ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ดิ่งลงอย่างรุนแรง จนทำให้ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของเกือบทุกบริษัทลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเทคโนโลยี และนั่นส่งผลให้มหาเศรษฐีสิบอันดับแรกของโลก รวยน้อยลงตามไปด้วย ยกเว้นก็เพียงพ่อมดการเงิน “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่สวนกระแสซีอีโอคนอื่น โดยกลับรวยขึ้น

การปรับตัวลงอย่างรุนแรงในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของอีลอน มัสค์ ซีอีโอบริษัท เทสล่า ซึ่งรวยสุดในโลก ลดลง 25,800 ล้านดอลลาร์ โดยลดลงในวันเดียวลึกสุดเป็นครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์ของดัชนีมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก และทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของมัสค์ หายไปประมาณ 54,000 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้

ขณะเดียวกัน เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งอเมซอน มีสินทรัพย์ลดลง 27,800 ล้านดอลลาร์ แลร์รี่ เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ก่อตั้งกูเกิล มีสินทรัพย์ลดลงคนละมากกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ลดลง 12% หรือ 15,200 ล้านดอลลาร์

ในบรรดามหาเศรษฐี 10 อันดับแรก มีเพียง วอร์เรน บัฟเฟตต์ เท่านั้นที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์ ทำให้มีสินทรัพย์ทั้งหมด 111,300 ล้านดอลลาร์

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บัฟเฟตต์ได้กลับมาอยู่ในอันดับ 7 จากการจัดอันดับความมั่งคั่งทั่วโลกตามดัชนีมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก แต่บัฟเฟตต์ต้องใช้เวลา 4 ปี จึงจะกลับมาอยู่ในอันดับสูงกว่าซักเคอร์เบิร์กได้ หลังจากที่ซักเคอร์เบิร์กรวยอย่างก้าวกระโดดจนแซงหน้าไปอยู่ในอันดับสูงกว่าบัฟเฟตต์เป็นส่วนใหญ่เมื่อย้อนไปถึงปี 2561

ขณะนี้บัฟเฟตต์มีสินทรัพย์มากกว่าซักเคอร์เบิร์กราว 1,000 ล้านดอลลาร์ และอยู่ในอันดับสูงสุดในดัชนีบลูมเบิร์กนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว

ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ สาเหตุที่ทำให้บัฟเฟตต์สินทรัพย์ไม่ลดลงเพียงคนเดียวเป็นเพราะว่าเขาเชื่อมั่นใน “การลงทุนที่เน้นคุณค่า” และ “กระจายการลงทุน” ไม่เหมือนกับซีอีโอคนอื่น ๆ ที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ผูกติดกับบริษัทเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งได้เจอแรงเทขายอย่างหนักเมื่อเร็ว ๆ นี้

นักลงทุนที่เน้นคุณค่ามักเลือกหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่าจริง และมีการซื้อขายที่ต่ำกว่าที่มันควรจะเป็น หุ้นคุณค่าในสหรัฐฯ มีผลประกอบการที่ดีกว่าบริษัทเทคโนโลยีและดัชนี S&P 500 มาตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยปรับตัวลงเพียง 4.2% ในขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 9.2% และหุ้นเทคโนโลยีลดลง 15%

บัฟเฟตต์ได้ยึดการลงทุนหุ้นคุณค่ามาโดยตลอดในช่วงศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า นอกจากนี้บริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ของเขา ยังกระจายพอร์ตลงทุนอย่างกว้างขวาง จนช่วยฝ่าฟันแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยีได้ และหุ้นเอของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ซึ่งมีสัดส่วน 98% ของสินทรัพย์ของบัฟเฟตต์ ได้ปรับตัวขึ้น 2.3% นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม

บัฟเฟตต์ได้แนะนำมานานแล้วว่า นักลงทุนควรนำเงินไปลงทุนในกองทุนดัชนี ซึ่งถือหุ้นทุกตัวในดัชนี ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงโดยอัตโนมัติ บริษัทในดัชนี S&P 500 ที่บัฟเฟตต์ได้เข้าลงทุน ได้แก่ บริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น แอปเปิล โคคา-โคลา และ กูเกิล

ในปี 2560 บัฟเฟตต์ได้แนะนำให้ผู้ที่ต้องการสร้างเงินออมเพื่อการเกษียณ กระจายการลงทุนในกองทุนดัชนี โดยชี้ว่าเป็นการลงทุนที่มีเหตุผลในเชิงปฏิบัติตลอดเวลาไม่ว่าจะซื้อน้อยหรือซื้อมาก และแนะนำให้ซื้ออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การลงทุนของบัฟเฟตต์อาจจะไม่สามารถทำให้เขากลับมาเป็นมหาเศรษฐีหนึ่งในสิบอันดับแรกได้เป็นเวลานาน เพราะในปีที่ผ่านมาเขาได้เปิดเผยว่าได้มอบเงินให้กับการกุศลไปแล้วครึ่งทาง และยังไม่มีแผนการว่าจะหยุดบริจาคในเร็ว ๆ นี้ โดยบัฟเฟตต์ได้บริจาคหุ้นเบิร์กเชียร์ให้กับมูลนิธิ บิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ เกือบ 33,000 ล้านดอลลาร์มาตั้งแต่ปี 2549

ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าจะมีแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยีมาก แต่สินทรัพย์ที่มีมูลค่าถึง 216,000 ล้านดอลลาร์ ของ อีลอน มัสค์ ก็ยังคงทำให้เขาเป็นคนรวยสุดในโลก ซึ่งมากกว่าบัฟเฟตต์เกือบสองเท่า

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือมือเก่า หากยังไม่สามารถหาจุดยืนในการลงทุนได้ ลองตรองและเปรียบเทียบดูว่า คุณอยากจะรวยแบบ “บัฟเฟตต์” ที่เน้นคุณค่า และกระจายความเสี่ยง แบบ “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” หรือจะลงทุนแบบหวือหวา และเป็น fast mover แบบ “มัสค์” ที่ชอบชักเข้าชักออกเกี่ยวกับการลงทุนในคริปโต ซึ่งทำให้วันดีคืนดี สินทรัพย์ก็พุ่งพรวด แต่บางทีก็ดิ่งพสุธาในชั่วข้ามคืน จนหาความพอดีและความสงบไม่ค่อยจะได้

Back to top button