ยุควิบากกรรมของค่ายรถญี่ปุ่น

เส้นทางข้างหน้าของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ปรับตัวช้า อาจจะเหลือเพียงแค่ตำนานของแบรนด์ที่หาค่าไม่ได้ เพียงแต่ยังไม่รู้จะเป็นค่ายไหนเท่านั้นเอง


ขณะที่ค่ายรถยนต์จากจีนกำลังเดินหน้ารุกหนักทั้งตั้งโรงงานใหม่ทั่วโลกและส่งออกทุนเข้าซื้อกิจการต่างประเทศชนิดเสมือนพิมพ์ธนบัตรที่ไร้ต้นทุนเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ทั่วโลก เดินหน้าสร้างแบรนด์ตัวเองและใช้เทคโนโลยีล้ำยุคที่มีรถยนต์ใช้ไฟฟ้า (EV) เป็นพลังงานสร้างความแตกต่างทางด้านผลิตภัณฑ์ ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายใหม่ผู้เริ่มตีโต้ หันมาผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้พลังงานปิโตรเลียมซึ่งเรียกกันว่ารถยนต์สันดาปภายใน (ICV) กันเพื่อไม่ให้ตกขบวนรถยนต์ไฟฟ้า ที่จีนและสหรัฐฯ เป็นเจ้าตลาดอยู่

ข่าวใหญ่ในโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นเมื่อค่ายรถยนต์อันดับสามของญี่ปุ่นที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศมากกว่าตลาดภายในอย่าง ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) ได้ประกาศปิด 1 ใน 3 “โรงงานแม่” ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมปรับลดกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศลงเหลือราว 800,000 คัน/ปี หรือลดลงประมาณ 40% เพื่อปรับโครงสร้างของบริษัทสำหรับการมุ่งสู่ EV เต็มรูปแบบ 100% ภายในปี ค.ศ. 2040 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า

ฮอนด้า มีแผนปิดโรงงานในเมืองซายามะ ที่จังหวัดไซตามะ ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถรุ่น Civic และ Accord ในประเทศ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเดิมทีโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 2.5 แสนคันต่อปี โดยฮอนด้ามีแผนจะให้โรงงานแห่งนี้ทำหน้าที่ผลิตแค่ชิ้นส่วนรถยนต์ต่อไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า ก่อนจะปิดตัวลง

สำหรับการผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นของฮอนด้าเอง จะถูกโอนย้าย ไปยังโรงงานโยริอิ ของฮอนด้าอีกแห่งในจังหวัดเดียวกัน เช่นเดียวกับพนักงานที่จะย้ายไปประจำโรงงานแห่งอื่นในต่างประเทศแทน

แผนดังกล่าวถือเป็นการถอยหลังก้าวที่สอง เพราะในปีที่แล้ว ฮอนด้าเคยประกาศแผนการลดต้นทุนอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกโปรแกรมแข่งรถฟอร์มูล่าวันเช่นกัน

โฆษกของบริษัทแม่ในญี่ปุ่นยอมรับว่า กำลังปรับปรุงโครงสร้างของบริษัทให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในอนาคต ที่ประกาศว่ารถยนต์นั่งทุกรุ่นของฮอนด้าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2040 พร้อมมีการจัดพิธีปลดสายการผลิตในโรงงานไซยามะ ซึ่งโรงงานแห่งนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1964 หรือเกือบ 60 ปีที่แล้ว

จนถึงสิ้นปี 2021 ฮอนด้ามีกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านคันต่อปี จากสายการผลิตของ “โรงงานแม่” 3 แห่งในญี่ปุ่นในเมืองไซยามะ โยริอิ และซูซูกะ ในจังหวัดมิเอะ หลังจากที่เคยขึ้นสู่ปริมาณสูงสุดในช่วงในช่วงต้นก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เคยมีกำลังการผลิตรถยนต์สูงสุดได้มากกว่า 1.3 ล้านคันต่อปี …แต่นั่นก็เหลือเพียงความจริงอันโหดร้ายเพราะในปี พ.ศ. 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด ฮอนด้า มอเตอร์ส มีกำลังผลิตในญี่ปุ่นเพียงแค่ 840,000 คันเท่านั้น เรียกว่าถดถอยชัดเจน

ถัดมา บริษัท นิสสัน มอเตอร์ส  ก็ตามรอยฮอนด้าเช่นกัน ประกาศว่าแม้ในระยะสั้นนี้จะยังคงรักษากำลังการผลิตของนิสสัน ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.34 ล้านคันต่อปีต่อไป แต่กำลังเตรียมยุติการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาป ICE ยกเว้นในรถกระบะ และ SUV ในสหรัฐอเมริกา โดยประกาศเงื่อนเวลาเอาไว้ว่าจะมีผลเมื่อใดเต็มรูป

นี้เป็นส่วนหนึ่งของพยายามปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ พวกเขาพยายามตามรอยของผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น เช่น Volvo, Volkswagen, GM หรือ Mercedes

นิสสันกำลังประกาศแผนการที่จะตัดเงินทุนส่วนใหญ่สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่บริษัทจะยังคงพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีอยู่แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบการปล่อยมลพิษ Euro 7 ที่เข้มงวดซึ่งจะมีขึ้นในปี 2568 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า

ในยุโรป มาตรฐานการปล่อยมลพิษยูโร 7 ใหม่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ทำให้นิสสันกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ และ มองเห็นว่าการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในไม่คุ้มค่า และ ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป

นิสสัน ตั้งเป้าให้รถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วน 50% ของรถยนต์ที่นิสสันผลิตทั้งหมด ภายในปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้าและนิสสัน จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 23 รุ่น (PHEV, HEV) ในปีนี้โดยมี 15 รุ่นเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 100%

ในการทำเช่นนี้ NISSAN ต้องลงทุนจำนวนมากกว่า 2 ล้านล้านเยน เพื่อให้มีการพัฒนาในช่วง 5 ปีข้างหน้า พร้อมนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตต (ASSB) เพื่อผลิตในรถยนต์รุ่นใหม่ ภายในปี 2571 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า

บนเส้นทางหรือโรดแม็ปนี้ เท่ากับโอกาสของการทำกำไรไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไปเพราะเป็นแค่เกมรักษาเอาตัวรอดธรรมดา

ส่วนรายยังคงวางฟอร์มสงบนิ่งคือยักษ์ใหญ่โตโยต้า แต่ความเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการยังคงมีต่อไป รอระยะเวลาที่เป็นทางการเท่านั้น

การปรับตัวนี้ ทำให้เห็นชัดว่าตลาดกลางอย่างที่ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นเดินไปนี้ ไม่ได้ โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการรับมือค่ายรถยนต์จากจีนที่มาแรงมากจากนโบยายภาครัฐที่สนับสนุน และตลาดภายในที่ใหญ่โตมหาศาล

ปัจจุบันความพร้อมของจีนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า มีเต็มที่เพราะจำนวนวิศวกรยานยนต์ที่จีนผลิตเองมีจำนวนมากกว่าในเยอรมันและญี่ปุ่นรวมกันเสียอีก แต่จ่ายเงินเดือนเพียงหนึ่งในสาม ในคุณภาพของบุคลากรเดียวกัน เป็นความได้เปรียบที่ทำให้คู่แข่งหนาว ๆ ร้อน ๆ ได้ เนื่องจากจีนมีข้อได้เปรียบหลายด้านมาก เช่น

-ต้นทุนผลิตแบตเตอรี่ราคาถูกที่สุดในโลก ทั้งชนิดเกรดพรีเมียม และเกรดคอมเมอร์เชียล

-ผลิตมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงได้ราคาถูกที่สุดในโลก เพราะจีนไม่ขาย Rare-earth mineral ให้ประเทศอื่น แต่ใช้เพื่อผลิตมอเตอร์หรือชิ้นส่วนของมอเตอร์ขายเพื่อส่งออกเองเท่านั้น (ถ้าใครเคยดูสารคดีการผลิตมอเตอร์ของรถยนต์ออดี้จะเห็นว่าจะข้ามส่วนของโรเตอร์ไปทั้งหมดเพราะว่ามันมาจากจีนทั้งก้อน)

-จีนผลิต Supercapacitors หรือ ultracapacitors ได้ราคาถูกที่สุดในโลกเทคโนโลยีแบบ double-layer หรือแบบ pseudocapacitors หรือแบบ Hybrid จีนทำได้หมด อายุการใช้งานชาร์จเป็นแสนรอบ แคปยี่ห้อดังอเมริกันหรือยุโรปยังผลิตในจีนจำนวนมาก

เส้นทางข้างหน้าของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ปรับตัวช้า อาจจะเหลือเพียงแค่ตำนานของแบรนด์ที่หาค่าไม่ได้ เพียงแต่ยังไม่รู้จะเป็นค่ายไหนเท่านั้นเอง

Back to top button