พาราสาวะถี

ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับประเทศไทย เมื่อ 27 นักการทูตอียูออกโรงเรียกร้องถึงขนาดนี้ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ หรือยูเอ็นจีเอ


ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับประเทศไทย เมื่อ 27 นักการทูตอียูออกโรงเรียกร้องถึงขนาดนี้ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ หรือยูเอ็นจีเอ ที่ได้มีการหารือกันถึงกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครนและได้ลงมติประณามรัสเซียเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ตามเวลาสหรัฐอเมริกา โดย 141 ชาติลงมติประณามรัสเซีย มี 5 ชาติที่โหวตคัดค้าน และ 35 ชาติงดออกเสียง ประเทศไทยก็ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ขณะที่สิงคโปร์เป็นชาติแรกในอาเซียนที่ได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียไปก่อนหน้า

เมื่อท่าทีของประเทศส่วนใหญ่เดินกันไปในแนวทางนี้ ไทยก็คงไม่อาจฝืนกระแสได้ ส่วนถ้อยแถลงชี้แจงเหตุผลในการลงมติก็เป็นเรื่องปกติทางการทูตที่จะต้องแจกแจง สิ่งที่น่ากังวลกันมากที่สุดคงเป็นผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนมากกว่า เวลานี้ที่เห็น ๆ คือราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวสูงขึ้นไปแตะถึง 119 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2012 และถือว่าราคาปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 20% แล้วในรอบสัปดาห์

นอกจากนั้นยังพบว่าราคาถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงอะลูมิเนียมก็ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน อันเป็นผลจากการที่ชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย เมื่อการทำสงครามยืดเยื้อก็น่าสนใจว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศต่าง ๆ นั้นจะออกมาในรูปแบบใด แต่ที่นักวิเคราะห์ต่างชาติมองเหมือนกันก็คือ ความขัดแย้งดังกล่าวอาจจะทำให้โลกต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ถึงกับเอ่ยปากสงครามในยูเครนส่งผลให้การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจไม่แน่นอนอย่างมาก

ต้องคอยดูท่าทีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่อ้างว่าได้เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนไว้ 3 ระดับเพื่อรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นแล้ว กรณีนี้คงต้องเกาะติดสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดแบบไม่ใช้ความรู้สึก หรือคล้อยตามการวิเคราะห์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะแต่ละรายที่แสดงความเห็นผ่านสาธารณชน ล้วนแต่มีวาระอันเป็นความเชื่อพื้นฐานของตัวเองทั้งสิ้น รัฐบาลตัดสินใจถูกผิดก็ต้องพร้อมที่จะรับชะตากรรมที่จะตามมา

วิกฤตขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นเรื่องไกลตัว แม้จะมีหลายเสียงเห็นต่างว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ตาม เนื่องจากในบ้านเราสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่า นาทีนี้ว่ากันว่าจากที่เคยสบายใจเมื่อได้ยินคำยืนยันเรื่อง 260 เสียง แต่พลันที่เกิดการหักดิบเขี่ย ไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ให้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั้งสองฉบับ ถือเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองให้นักเลือกตั้งเตรียมตัวกันได้แล้ว

ยอมรับจากปากของคนพรรคเดียวกันเอง เหตุที่ทำให้เสียงของกรรมาธิการส่วนใหญ่ปฏิเสธซามูไรกฎหมายเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวที่ไม่ยอมฟังใคร ตรงนี้เป็นคุณสมบัติที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องการ แต่สำหรับนักเลือกตั้งโดยเฉพาะในคณะกรรมาธิการนั้นไม่ใช่ ส่วนใหญ่คนที่เป็นกรรมาธิการจะขอให้มีโอกาสได้อธิบายในประเด็นที่ตัวเองเสนอเพื่อให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่วนมติเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้มีการติดใจอะไร ซึ่งไพบูลย์ไม่ได้เปิดโอกาสเช่นนั้น

ถือเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้แสดงฝีมือและชั้นเชิงทางการเมืองกับเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ หากมีเจตนาที่จะสกัดกั้นหรือเข้าไป “ปิดสวิตช์คสช.” ตามที่เคยใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าร่วมรัฐบาลจริง ไม่มีจังหวะไหนจะดีมากไปกว่านี้อีกแล้ว อย่าลืมเป็นอันขาดคำประกาศของไพบูลย์ที่มั่นใจว่าตัวเองจะได้เก้าอี้ประธานกรรมาธิการนั้นคือเข้าไปจัดการให้เรียบร้อย แน่นอนคำว่าเรียบร้อยของซามูไรกฎหมายกับของพรรคเก่าแก่และพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พรรคสืบทอดอำนาจย่อมไม่เหมือนกัน

พูดให้เข้าใจง่ายเรียบร้อยของพรรคแกนนำรัฐบาลคือความไม่เรียบร้อย อันจะนำไปสู่การล้มร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เพื่อให้เกิดการตั้งต้นใหม่หรือหาหนทางที่จะไปสู่การไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง ส่วนประชาธิปัตย์การไม่คล้อยตามความประสงค์ของเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็ต้องยอมเล่นบทผู้เสียสละ รู้ทั้งรู้ว่าแก้กันแบบนี้จะมีพรรคที่ได้ประโยชน์คือเพื่อไทย รวมไปถึงภูมิใจไทย แต่อย่างน้อยการไม่ใช้รูปแบบเดิมก็เหมือนการปิดประตูที่คนของตัวเองจะถูกดูดจากพรรคสืบทอดอำนาจเช่นกัน

แม้จะไม่ใช่ผู้ชนะหรือได้คะแนนเสียงถล่มทลายเหมือนในอดีต แต่การเลือกตั้งที่ไม่ใช่บัตรใบเดียว คนที่คิดจะตีจากย่อมหันกลับมาคิดใหม่ พรรคที่เคยใช้พลังดูดประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งครั้งก่อนก็ต้องคิดให้หนักเพราะความเสี่ยงที่จะพลาดเป้ามีสูง การปาดหน้าคว้าเก้าอี้สำคัญนี้คนของพรรคเก่าแก่ดีดลูกคิดคำนวณแล้วว่าได้มากกว่าเสีย เพราะในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลส่วนฝ่ายบริหารไม่ได้มีอะไรที่จะได้เพิ่มมากไปกว่านี้อีกแล้ว หาหนทางสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองผ่านงานถนัดของตัวเองในฝ่ายนิติบัญญัติดีกว่า

อย่างไรก็ตาม การปรับครม.ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจย้ำหนักย้ำหนาว่าไม่เกิดขึ้นนั้น คงจะเป็นเพียงแค่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภานี้เท่านั้น ให้ดูห้วงเวลาก่อนเปิดประชุมสภาที่จะมีร่างกฎหมายงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาที่ถือเป็นเดิมพันของการอยู่ในอำนาจของท่านผู้นำและขบวนการสืบทอดอำนาจ รับรองได้ว่าจะมีการขยับเพื่อรับบางคนบางพวกเข้ามา สร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้ตกจากหลังเสือแบบพิกลพิการ

การที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า ประกาศว่าไม่สนใจเก้าอี้รัฐมนตรีก็ถือเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว ที่รู้อยู่แล้วว่าตราบใดที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ในตำแหน่งตัวเองก็ไม่มีวันที่จะได้กลับไปนั่งเป็นเสนาบดี แต่อย่าลืมว่าเก้าอี้ที่ว่าง 2 ตำแหน่งก่อนหน้า คนของพรรคเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะได้หยิบชิ้นปลามัน การที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ยืนยันหนักแน่น 18 เสียงยังสนับสนุนรัฐบาล จะต้องมีหลักประกันเพื่อเป็นการซื้อใจกันด้วย ไม่เชื่อก็คอยดู ไม่ว่าจะคนสนิทของพี่ใหญ่หรือคนใกล้ชิดของธรรมนัสใครก็ได้ทั้งนั้น เมื่อถึงเวลานั้นน้องเล็กคงไม่มีทางที่จะบิดพลิ้วได้อีกต่อไป

Back to top button