สงครามและทฤษฎีเกม

ข่าวสงครามในยูเครน ค่อนข้างสับสน และทำให้ตลาดหุ้นกับตลาดเก็งกำไรค่อนข้างมึนงงไปมิใช่น้อย


ข่าวสงครามในยูเครน ค่อนข้างสับสน และทำให้ตลาดหุ้นกับตลาดเก็งกำไรค่อนข้างมึนงงไปมิใช่น้อย

ชาติที่เกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรงและชาติที่พยายามหาประโยชน์จากสงครามคราวนี้ พากันสร้างและแย่งชิงพื้นที่ข่าวกันยกใหญ่ จนไม่มีใครรู้ว่าทิศทางของสงครามคราวนี้จะลุกลามหรือจำกัดวงแค่ไหน

เอาเป็นว่าตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้รับรู้กันว่าสงครามคราวนี้เกิดขึ้นในยูเครน ประเทศที่เคยเป็นด่านหน้าทางภาคใต้ของรัสเซียมายาวนานกว่าร้อยปีแล้ว เนื่องจากรัฐบาลยูเครนกำลังสร้างกรอบความสัมพันธ์ใหม่กับตะวันตก (นาโต้) ซึ่งรัสเซียในฐานะมหาอำนาจหลักของยุโรปและเอเชีย จะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุหลักของสงคราม

ปัญหาที่ทุกคนไม่เข้าใจคือ ยากจะรู้ว่าเป้าหมายของสงครามคราวนี้รัสเซียต้องการอะไรระหว่าง การทำลายล้างอิทธิพลของนาโต้ หรือ การสร้างอำนาจต่อรองใหม่ในการเมืองโลก

ความไม่รู้นี้ ทำให้ยากที่จะบอกและคาดเดาได้ว่า จุดหมายปลายทางของสงครามคืออะไรกันแน่ … ยกเว้นการทดสอบยุทธวิธีการทำสงครามแบบใหม่ของชาติมหาอำนาจ

แรกสุดคือสหรัฐฯ ที่มีนาโต้เป็นหัวหอกคอย “เสี้ยม” หรือสร้างอำนาจต่อรองขึ้นมาใหม่ที่บั่นทอนพลังของรัสเซียในยุโรปตะวันออกครั้งแล้วครั้งเล่ามาตลอดนับแต่สนธิสัญญาวอร์ซอและรัฐโซเวียตล่มสลายลงไปนับแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา…น่าจะต้องทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่กันอย่าง “ถอดรื้อ” กันครั้งใหม่ ซึ่งน่าจะเกิดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างนาโต้กับรัสเซียที่ต้องมีกติกาที่ต่างจากเดิม โดยมีเป้าหมายสร้าง “ความปกติใหม่” หรือ “นิว นอร์มอล”

การทบทวนท่าทีของนาโต้ใหม่จะทำให้ตำราความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุโรปเปลี่ยนไปสู่บทใหม่ที่น่าสนใจ

ส่วนรัสเซียนั้น ความเสียหายจากปฏิบัติการตีโต้ต่อนาโต้ครั้งนี้ น่าจะทำให้เกิดบทเรียนใหม่ ๆ ในการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาได้ และข้ออ้างของการเมืองแบบ “ชาตินิยมสลาฟ” ที่นำมาใช้ตอบโต้ครั้งนี้ น่าจะเปิดช่องให้บรรดาชาติพันธมิตรเก่า ๆ ของรัสเซียต้องทบทวนท่าทีกันใหม่ว่าจะมีเงื่อนไขของการอยู่ร่วมกันอย่างไรในอนาคตกับมหาอำนาจขนาดใหญ่ที่อ้างเอาเขตอิทธิพลส่วนตัวของรัสเซียเหนืออธิปไตยของชาติเล็ก ๆ ที่รอบข้าง ๆ ได้ โดยไม่รู้สึกถึง “ความบางเบาที่ไม่อาจจะทนแบกรับได้” (ดังที่นิยามว่าเอาไว้) เป็นความเปราะบางของยุโรปตะวันออกมายาวนาน

ความบางเบาในความสัมพันธ์กับรัสเซียโดยที่ชาติขนาดเล็กไม่รู้สึกว่าตนตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียแบบที่คนยูเครน เช็ก สโลวัก สโลวีเนีย ลิทัวเนีย แลตเวีย และฟินแลนด์หรือโปแลนด์ เป็นสิ่งที่รัสเซียอาจจะไม่ยอมเข้าใจมาก่อน แต่จะต้องทำความเข้าใจมากขึ้นว่า เหตุใดชาติเหล่านี้ ถึงอยากใกล้ชิดกับนาโต้มากกว่ารัสเซีย

เช่นเดียวกันกับจีนที่จะต้องทำความเข้าใจมากขึ้นว่า ความสัมพันธ์ของรัฐบาลปักกิ่งกับบรรดาชาติน้อยใหญ่ในอาเซียน หรือบรรดาชนกลุ่มน้อยในจีนอย่างทิเบต ไต้หวัน ชนชาติอู่ยเก้อหรือ มุสลิมในจีนเองที่มีเหตุคับข้องกันมายาวนาน หรือชาติที่จีนถือเป็นดินแดนในเขตอิทธิพลอย่างมองโกเลีย อัฟกานิสถาน หรือชาติที่อยู่บนเส้นทางสายไหมเก่าแก่

การทบทวนท่าทีของนาโต้ และสองมหาอำนาจยุโรปคือรัสเซีย และเอเชียอย่างจีน น่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนของสันติภาพในโลกนี้ไปยาวนาน เพราะการเดินยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาตามหลักการของทฤษฎีสมคบคิดแบบ “หมากล้อม” นำมาซึ่งวิกฤตจนเกือบเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่บานปลายได้ ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของปัญหายูเครนคราวนี้

หากเรามองโลกในมุม “บวก” เช่นนี้ได้ ความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่สงครามใหญ่กว่ากรณีนาโต้กับรัสเซีย ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่าคงไม่งายดายนัก

เว้นเสียแต่จะมีนักคิดแก้ปัญหาระดับเดียวกับนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ ของอเมริกันในช่วงปลายและหลังสงครามเวียดนาม โผล่หน้าเข้ามาเสนอทางออกที่ดีสำหรับเกมวิน-วินให้กับมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย จนยอมรับกันได้ในลักษณะ “หมูไป ไก่มา” ที่สมเนื้อสมน้ำกัน

เวลานี้ ยังมองไม่เห็นทางเลือกและข้อเสนอ แต่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะหากถือว่านี้เป็นทฤษฎีเกมที่ทุกคนเห็นภัยอันตรายของการเล่มเกม “กินรวบ” แล้วเสนอทางเลือกแบบ “กินแบ่ง” ขึ้นมา ก็พร้อมที่จะได้รับการตอบรับที่ดี แม้จะไม่ถูกใจทั้งหมดก็ตาม

หากทำได้โลกก็พ้นอันตรายจากการเล่นเกมเสียวสยองของ “Mexican Standoff” ที่อาจจะนำไปสู่สงครามใหญ่ที่มีนิวเคลียร์อยู่ในมือของคนบ้า ๆ บอ ๆ ที่มีอำนาจได้

Back to top button