อนาคตและความเสี่ยงของยูเครน

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน อนาคตของรัฐอย่างยูเครน ล้วนแต่สามารถมองได้จากมุมลบมากกว่ามุมบวก


ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน อนาคตของรัฐอย่างยูเครน ล้วนแต่สามารถมองได้จากมุมลบมากกว่ามุมบวก อย่างดีที่สุดที่จะเป็นไปได้หลังจากผ่านช่วงเวลายากลำบากของการถูกรุกรานจาก “เพื่อนบ้านที่ป่าเถื่อนกว่า” อย่างรัสเซีย (ซึ่งคาดหมายได้ว่าน่าจะกินเวลายาวนานกว่า 20 ปีถึงจะลงเอย) คือเป็นรัฐเอกราชที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีที่เลวร้ายสุด ๆ อย่างเลวร้ายสุดคือตกเป็นรัฐล้มเหลว หรือรัฐเบี้ยหัวแตกที่แยกออกเป็นหลายประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ล้วนเป็นโศกนาฏกรรมทั้งสิ้น

ที่กล่าวนำมาเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะมีอคติหรืออวดรู้ใดๆ แต่เพราะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับรัฐในเขตที่มีความเปราะบางทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองทั้งสิ้นอย่างเช่น ปานามา ยูโกสลาเวีย โปแลนด์ เลบานอน ซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย เยเมน หรือ เกาหลี

ยูเครน นั้น มีภูมิศาสตร์การเมืองที่คล้ายคลึงกับบรรดารัฐในคาบสมุทรบอลข่านในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และโปแลนด์ในก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเพราะมีสภาพรัฐที่เหมาะจะเป็น “กระสุนดินปืนของสงครามใหญ่” (gunpowder of war) ที่รอปะทุอยู่เสมอ

นับจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และกติกาสนธิสัญญาวอร์ซอ ยูเครนพยายามเรียกร้องความเป็นรัฐอิสระไม่ต้องอยู่ใต้เขตอิทธิพลของรัสเซียเหมือนในอดีตตั้งแต่ยุคพระเจ้าซาร์นานกว่า 300 ปีแต่การเป็นรัฐอิสระที่อยู่ติดชิดกับอดีตมหาอำนาจของโลกมายาวนานกว่า 500 ปีอย่างรัสเซีย ได้กลายเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะเท่ากับเปิดทางให้กองกำลังนาโต้ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำหลักเข้ามาสร้างเขตอิทธิพลทดแทนรัสเซีย ส่งผลให้ยูเครนต้องกลายเป็นรัฐกันชนที่ด่านหน้าของยุทธศาสตร์ทางทหารและการเมือง ซึ่งรัสเซียจะยอมไม่ได้ จนกลายมาเป็นสงครามรุกรานที่ล้าสมัยของรัสเซีย และกลายเป็นสมรภูมิทดสอบอาวุธครั้งใหญ่ทางทหารของยุโรปอีกครั้งนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นไป

การรุกรานของกองทหารรัสเซียคราวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดพื้นที่หรือสร้างเกมต่อรองอะไรก็ตามตามสูตรของสงครามยุคใหม่ แต่การทำลายล้างในลักษณะทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร (ฐานยิงขีปนาวุธ หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือเขตปฏิบัติการทางทหารสำคัญในรูปแบบของ strategic military sabotage นอกจากทำให้ยูเครนอ่อนด้อยประสิทธิภาพทางทหารอย่างมีนัยสำคัญ แล้วยังทำให้ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลำบากขึ้นกว่าเดิม

ความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นในการสงครามครั้งนี้ รวมทั้งเงื่อนไขหลังการเจรจาสงบศึกที่มีต้นทุนมากมายเป็นการแลกเปลี่ยน จะทำให้ยูเครนมีทางเลือกหลังสงครามเป็นรัฐอิสระที่เป็นรัฐกันชนทางการเมืองและการทหารโดยปริยาย

ฐานะการเป็นรัฐกันชน หมายความว่า อนาคตของยูเครนจะถูกแกว่งไกวและถูกแทรกแซงจากภายนอกง่ายขึ้น อย่างน้อยที่สุด จนกลายเป็นรัฐที่กลายเป็นเหยื่อของสงครามเย็นที่ไม่ประกาศที่ทำให้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอ่อนแอลงไปเข้าข่ายรัฐสุ่มเสี่ยง ได้ง่ายขึ้น โดยมีเป้าหมายปลายทางของสถานภาพเป็นรัฐล้มเหลวในที่สุด

ในตำรารัฐศาสตร์ร่วมสมัย นิยามว่า รัฐล้มเหลว (หรือ failed states) หมายถึง รัฐที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใน มีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย รัฐบาลและกลไกรัฐขาดความมั่นคงและประสิทธิภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้

นิยามข้างต้น ใช้เพื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เรียกตัวเองว่า รัฐที่เจริญแล้ว (enlightened state) หยิบยกคำว่า failed state ขึ้นมาใช้เพื่อสร้างความไม่ชอบธรรมในรัฐบาลที่นิยมใช้ความรุนแรง โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องประชาชนของรัฐที่ล้มละลาย เทียบเคียงกับความเลวร้ายของ รัฐอันธพาล (rogue state) หรือรัฐก่อการร้าย (terrorist state) โดยวิธีการที่อาจจะผิดกฎหมายแต่ก็มีความชอบธรรม (illegal but legitimate)

นิยามรัฐล้มเหลว ถูกเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมาโดยต้นธารคือ สหรัฐอเมริกา กองทุนเพื่อสันติภาพ และนิตยสาร Foreign Policy ของกลุ่มอิทธิพลฝ่ายขวาทางการเมืองสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์รายงานประจำปีที่เรียกว่า “Failed States Index” ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถานะของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่ได้ถูกนำเสนอในรายงานนั้นจะต้องเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเท่านั้น

ส่วนดินแดนที่เป็นเขตการปกครองซึ่งไม่ถูกจัด หรือมีสถานภาพเป็นประเทศที่ได้รับการรับรองโดยองค์การสหประชาชาติ จะไม่ถูกเข้ามาพิจารณาในรายงานนี้ เช่น ไต้หวัน ปาเลสไตน์ นอร์เทิร์นไซปรัส โคโซโว และเวสเทิร์นซาฮารา

การจัดอันดับจะอาศัยคะแนนรวม ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก 12 ตัวชี้วัด แต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนนเป็น 0 หมายถึงมีระดับความรุนแรงต่ำสุด (มีเสถียรภาพที่สุด) และ 10 หมายถึง มีระดับความรุนแรงสูงสุด (ไร้เสถียรภาพที่สุด) มีคะแนนรวมเท่ากับ 120 คะแนน จาก 12 ตัวชี้วัด โดยมีช่วงคะแนนตั้งแต่ 0-120 โดยที่ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของรัฐ จะประกอบไปด้วยปัจจัยทางด้านสังคม 4 ตัวทางด้านเศรษฐกิจ 2 ตัว และทางด้านการเมือง 6 ตัว แล้วนำมาสรุปจัดลำดับว่าประเทศใดเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดี (สีเขียว) ปานกลาง (สีเหลือง) มีคำเตือน (สีส้ม) และล้มเหลว (สีแดง)

ตัวแปรชี้วัดทั้ง12 ประกอบด้วย 1) แรงกดดันทางประชากรศาสตร์ 2) การย้ายถิ่นฐานของประชาชน 3) กรณีความขัดแย้งของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งเป็นผลจากความไม่พอใจในอดีต 4) ปัญหาการไหลออกของทุนมนุษย์ (สมองไหล) 4) ความไม่แน่นอนของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาถึงความไม่เสมอภาคของประชากร (ความเหลื่อมล้ำ) ซึ่งสามารถเห็นได้จากโอกาสทางการศึกษาการงาน และสถานะทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสามารถวัดได้โดยตัวเลขกลุ่มคนยากจน อัตราการเกิดการตาย หรือระดับการศึกษา

5) ความชัดเจน และ/หรือ ความรุนแรงของการถดถอยของเศรษฐกิจ 6) การปกครองของรัฐที่ไร้ความเป็นธรรม 7) ความเสื่อมถอยของการให้บริการสาธารณะ 8) การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แพร่หลาย 9) การใช้เครื่องมือที่ใช้รักษาความมั่นคง ที่เรียกว่า ‘State within a state’:เป็นลักษณะการปรากฏตัวของกลุ่มอำนาจสูงสุดของรัฐ โดยอาศัยการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่คุกคามฝ่ายตรงข้าม หรือพลเรือนที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐ หรือมีความเห็นที่สนับสนุนกลุ่มตรงข้ามรัฐเปรียบกับการสร้าง “กลุ่มกองกำลังภายในกองกำลังเดียวกัน” เพื่อรับใช้แสวงหาผลประโยชน์ให้กับกองทัพหรือกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านทั้งในรูปของทหารพลเรือน กองโจร กองกำลังเอกชนติดอาวุธ หรือการใช้ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทำให้ความรุนแรงแผ่ขยายออกไป เพื่อต่อต้านกับกองกำลังของรัฐ 10) การก่อตัวของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด 11) การแทรกแซงกิจการภายในจากรัฐอื่น หรือปัจจัยภายนอก

ระดับความเสี่ยงต่อการเป็นรัฐที่ล้มเหลวในแต่ละประเทศ ตามข้อมูลของ “Failed States Index 2011” ที่ได้นำเสนอใน Foreign Policy จำแนกออกเป็น 4 ระดับคือ1) รัฐบริหารจัดการดี (กลุ่มสีเขียว) 2) รัฐสถานะปานกลาง (สีเหลือง) 3) รัฐที่ต้องเตือนภัย (สีส้ม) และ 4) รัฐล้มเหลว (สีแดง)

รัสเซียได้ใช้วิธีการแบ่งแยกประเทศให้ออกจากยูเครนมาแล้วหลายครั้ง โดยส่งเสริมให้พวกนิยมรัสเซียในเขตที่แทรกแซงได้เช่น ไครเมีย แยกตัวเข้าไปเป็นดินแดนอิสระใต้อาณัติของรัสเซีย ซึ่งหากดำเนินแผนนี้ไปเรื่อย ๆ รัฐบาลยูเครนจะไม่มีอำนาจใด ๆ อีกต่อไปท้ายสุด แผนนี้หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป จะทำให้ยูเครน กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว และกลายเป็นรัฐเบี้ยหัวแตก (fragmented state) ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้เลย

ถึงเวลานั้น สงครามและการก่อการร้ายก็จะคุกคามยูเครนให้เกิดโศกนาฏกรรมมากขึ้นไปอีก

ทำให้มีคำถามว่า บนเส้นทางนี้ ใครจะหยุดยั้งโศกนาฏกรรมไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยหลบเลี่ยงสงครามโลกครั้งต่อไป

คำตอบช่างวังเวงยิ่งนัก เสมือนเพลงเก่าซ้ำซาก ของบ็อบ ดีแลนที่ว่า  Blowin’ in the wind

Back to top button