SA บุกแนวราบกระจายความเสี่ยง

เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว SA น่าจะกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีจุดเด่นเน้นโฟกัสไปที่สินทรัพย์ AMC


คุณค่าบริษัท

ในปี 2564 แม้บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) หรือ SA จะพลาดท่าจากวิกฤตโควิดจนทำให้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และสินค้า ซึ่งเป็นรายได้หลักหายไป 38.2% อยู่ที่ 2,083 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และสินค้า 3,369 ล้านบาท และทำให้กำไรสุทธิในปี 2564 เหลือแค่ 146 ล้านบาท ลดลง 80.4% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 542 ล้านบาท

แต่เนื่องจาก SA เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีจุดเด่นเน้นโฟกัสไปที่สินทรัพย์ AMC ซึ่งราคาถูก จำพวกที่ดินเปล่า หรือโครงการเก่ามารีโนเวท โดยอาศัยจุดแข็งของกลุ่มฤทธา มาช่วยต่อยอด ทำให้มีต้นทุนต่ำ ถ้าเทียบกับอสังหาฯ ค่ายอื่น ทำให้มีมาร์จิ้นสูง ขณะเดียวกันก็สามารถกดราคาขายได้ถูกกว่าตลาด ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว SA ก็น่าจะกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว

โดยเมื่อปลายปี 2564 SA ได้รุกไปสู่ธุรกิจ AMC เต็มรูปแบบ ด้วยการตั้งบริษัทย่อยใหม่ บริษัท ไซมิส แอสเทท แอนด์ เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด (SAM) โดยดึงบริษัท อินฟินิธ เวลธ์ เอ็นเทอไพรส์ จำกัด เข้ามาร่วมทุน เพื่อลุยซื้อหนี้ NPA-NPL มาบริหาร

สำหรับในปี 2565 จะปรับกลยุทธ์เน้นขยายตลาดแนวราบมากขึ้น เพื่อสร้างความเสถียรและกระจายความเสี่ยงในด้านรายได้ เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้จากโครงการแนวราบเข้ามาได้เร็วกว่าคอนโดมิเนียม รวมทั้งยังมีแผนพัฒนาศูนย์สุขภาพในโครงการมิกซ์ยูสในปีนี้ เน้นบริการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งแห่งแรกจะตั้งอยู่ทำเลย่านตลิ่งชัน ใกล้กับทางรถไฟและโรงพยาบาลศิริราช มูลค่าลงทุน 2 พันล้านบาท และยังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาศูนย์สุขภาพเพิ่มอีก 2 แห่ง ทำเลใกล้กับโรงพยาบาล

ขณะที่ล่าสุดผู้บริหารเปิดเผยถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2565 น่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งในแง่ของยอดขาย (Presale) และยอดโอนกรรมสิทธิ์ หลังจากที่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) มียอดขายประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อเดือน

ดังนั้นภาพรวมในปี 2565 มั่นใจจะทำได้ตามเป้าหมายรายได้ที่วางไว้ 4,900 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,441.42 ล้านบาท โดยรายได้หลักจะมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายประมาณ 4,500 ล้านบาท และจะมาจากรายได้จากกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-10% ของรายได้รวม

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ในมือมูลค่ารวม 4,200 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 2565 ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยหลัก ๆ จะมาจากโครงการ Landmark @MRTA Station ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ถึงปี 2569 นอกจากนี้ ยังมีสินค้าพร้อมขาย (Inventory) รวมมูลค่าประมาณ 5,059 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับการรับรู้รายได้ในปีนี้ด้วย โดยในปีนี้มีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่จำนวน 6 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 11,621 ล้านบาท

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น SA ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 4.26  เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 19-20  เท่า ถือว่าราคาซื้อขายต่ำกว่าตลาดหลายเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดู P/BV ที่ระดับ 3.10  เท่า ก็อาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ส่วนใหญ่ P/BV จะอยู่ที่ระดับ 1–2 เท่า

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

  1. นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ 520,084,466 หุ้น 43.87%
  2. นายอุทร ภูษิตกาญจนา 167,777,493 หุ้น 14.15%
  3. นายกมล โอภาสกิตติ 142,598,933 หุ้น 12.03%
  4. นายธัญญะ วงศ์พรเพ็ญภาพ 132,800,000 หุ้น 11.20%
  5. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 46,900,017 หุ้น 3.96%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ
  2. นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานกรรมการบริหาร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  3. นางสุนันทา สิ่งสรรเสริญ กรรมการ
  4. นายพันธ์เทพ อาสนิททอง กรรมการ
  5. นายอนันต์ บูรณานุสรพงษ์ กรรมการ
  6. นายสุพล จงจินตรักษา กรรมการ
  7. นางปริศนา ประหารข้าศึก กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  8. นายยิ่งยง วิทย์สุภาเลิศ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  9. นายสุเทพ เรืองพรวิสุทธิ์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

Back to top button