JSP เบี่ยงหางเสือ.?

เชื่อเถอะว่า SENA ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ คงไม่ปล่อยให้ JSP ตกอยู่ในสภาพขาดทุนซ้ำซากหรอกมั้ง...หลังจากนี้น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของ JSP อย่างต่อเนื่อง


หลังจากบริษัท เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JSP ถูกบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA รวบหัวรวบหางกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 35.35% ก็ตามมาด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ด…

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ล่าสุดมีธุรกิจใหม่งอกขึ้นมา นั่นคือ ธุรกิจด้านสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์ ด้วยการตั้งบริษัท เอส. เจ. เฮลธ์แคร์ จำกัด (เอส. เจ. เฮลธ์แคร์) ด้วยทุนจดทะเบียน 12 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจโรงพยาบาลขนาดเล็ก และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

บ่งบอกว่า JSP เริ่มเบี่ยงหางเสือป่ะเนี่ย..!?

จากเดิมที่เคยมุ่งเน้นการสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมขายเป็นโปรเจกต์บายโปรเจกต์ไป ก็หันมาสร้างยูนิตที่เป็น Recurring Income หรือรายได้ประจำแทน โดยใช้องคาพยพที่มีอยู่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้างและออกแบบอยู่แล้ว ก็จะทำให้มีต้นทุนที่ถูกลง

โอเค…แม้โมเดลนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลาย ๆ ค่ายก็ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ที่มีห้างสรรพสินค้า ส่วนบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF มีโรงแรม ฟาก บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S มีทั้งโรงแรมและสำนักงานให้เช่า ส่วนบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ก็มีทั้งโครงการอาคารสำนักงานและร้านค้าให้เช่า

แต่ JSP เลือกไปสู่เฮลท์แคร์ ก็คงเหมือนกับบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ที่มีโรงพยาบาลวิมุตนั่นแหละ

นั่นอาจเป็นเพราะ 1) เป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ เพราะชัดเจนว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับโควิดทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ก็เข้าสู่เทรนด์สุขภาพอย่างชัดเจน

และ 2) ช่วยสร้างรายได้ประจำ…แม้ธุรกิจนี้อัตราการ Growth อาจไม่หวือหวามาก แต่เป็นรายได้ที่สม่ำเสมอ มั่นคง และกินได้ยาวนาน

เป็นการกระจายความเสี่ยง…ในช่วงที่ธุรกิจอสังหาฯ ไม่ดี ตัวนี้ก็มาช่วยประคอง แต่ถ้าอสังหาฯ ดีด้วย ก็จะยิ่งช่วยหนุนการเติบโตให้โดดเด่น

แต่ถ้าให้เดา นี่น่าจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการเบี่ยงหางเสือของ JSP เท่านั้น..!! ไม่แน่ต่อจากนี้อาจจะมีการงอกธุรกิจใหม่ ๆ ออกมาอีกก็ได้

ก็น่าติดตามว่า การเบี่ยงหางเสือครั้งนี้จะทำให้ JSP ไปได้เร็วและแรงแค่ไหน..? ที่สำคัญจะช่วยยับยั้งภาวะขาดทุนเรื้อรังมา 3 ปีซ้อน จนทำให้ปัจจุบันมีผลขาดทุนสะสมยังไม่ได้จัดสรรสูงถึง 848 ล้านบาท ได้ป่ะเนี่ย..? นี่แหล่ะที่นักลงทุนอยากรู้

แต่เชื่อเถอะว่า SENA ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ คงไม่ปล่อยให้ JSP ตกอยู่ในสภาพขาดทุนซ้ำซากหรอกมั้ง…หลังจากนี้น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของ JSP อย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่น่าจะได้เห็นเร็ว ๆ นี้ คงเป็นเรื่องของการโอนทุนสำรองตามกฎหมาย และส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ เพื่อมาล้างขาดทุนสะสม รวมทั้งจะเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่เป็น บริษัท เสนา เจ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ SJ ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เม.ย.นี้ น่าจะกดปุ่มไฟเขียวอ่ะนะ…

ดูแล้ว SENA คงวางหมากให้ JSP เป็นมือเป็นไม้สำคัญให้กับกลุ่ม SENA แหละ…

ใช่ปะคะดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ขาาา…

…อิ อิ อิ…

Back to top button