SIRI ราคาต่ำบุ๊กเกือบถาวร

ราคาหุ้นของ SIRI มีราคาตามบุ๊กแวลูที่มากกว่า 2.00 บาทมาโดยตลอด แต่ในรอบ 4 ปีมานี้ ราคาหุ้นถดถอยลงมาต่ำกว่าระดับ 1.50 บาท


ราคาหุ้นของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI มีราคาตามบุ๊กแวลูที่มากกว่า 2.00 บาทมาโดยตลอด แต่ในรอบ 4 ปีมานี้ ราคาหุ้นถดถอยลงมาต่ำกว่าระดับ 1.50 บาท เหมือนจะมีท่าว่าจะกลับไปยืนเหนือกว่าบุ๊กแวลูไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีกำไรสุทธิต่อเนื่อง และยังจ่ายปันผลทุกปี จนกระทั่งดูเหมือนว่าราคาหุ้นจะต่ำกว่าบุ๊กเป็นการถาวรไปแล้ว ทั้งที่มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องกิจกรรมทางการขายต่อเนื่อง แล้วที่สำคัญคือโครงการขายอสังหาริมทรัพย์ทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นแนวตั้งหรือแนวระนาบจะยังคงขายเกลี้ยงต่อเนื่อง

เรียกว่าสินค้าทำออกมาขายได้หมด ไม่มีเหลือ (เพราะขายไม่ออก) ท่ามกลางคำถามที่ตอบไม่ถูกว่า ทำไมถึงมีราคาหุ้นย่ำแย่ถึงขั้นระดับ “แบกะดิน”

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินในเบื้องต้นที่พอประมวลได้จาก “คุณตลาด” มี 3 ข้อคือ

1) ความสามารถทำกำไร ต่ำกว่าปกติและมีการเพิ่มทุนจากการแปลงสภาพวอร์แรนต์เป็นระยะ ทำให้ราคาขยับขึ้นยาก

2) มีการมีแลนด์แบงก์ต่ำกว่าปกติ ทำให้ต้นทุนการทำอสังหาฯ แพงกว่าคู่แข่งขันในตลาด

3) ลงทุนผิดที่ผิดทาง อันนี้เป็นเรื่องเพิ่งเกิดจากการเข้าถือหุ้น

คำตอบทั้งสามข้อนี้ มีข้อโต้แย้งมากมายที่นักลงทุนไม่มีเหตุผลในการกดราคาหุ้น SIRI เอาเสียเลย

ข้อแรกสุดนั้น ในเรื่องความสามารถทำกำไรอาจจะมีส่วนจริงบ้าง แต่ว่ากลยุทธ์ในการปรับตัวของกลุ่มนี้ในการผลิตแบบพรีคาสต์ที่ช่วยลดต้นทุนและควบคุมการผลิตในเวลาที่กำหนดเป็นทิศทางของบริษัทที่ทำให้มีกำไรจากยอดขายต่อเนื่อง และมีแบรนด์ที่อยู่อาศัยที่โดดเด่นมายาวนาน น่าจะเป็นคำตอบที่ดีในตัวเอง ส่วนเรื่องการเพิ่มทุนในตลาดนั้นก็เป็นไปตามแผนงานอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ในปีที่ผ่านมา SIRI มีรายได้จากการขายโครงการจำนวน 26,170 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากรายได้จากการขายโครงการจำนวน 30,559 ล้านบาทในปี 2563 โดยรายได้จากการขายโครงการลดลงในเกือบทุกประเภทผลิตภัณฑ์ ยกเว้นมิกซ์ โปรดักต์ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างมากกว่าร้อยละ 120

รายได้ลดลง กลับทำให้กำไรสุทธิมากขึ้นกลับมายืนเหนือ 2.0 พันล้านบาท  ซึ่งก็ยังถือว่าต่ำอยู่ดี เพราะเทียบกำไรต่อรายได้แล้ว อัตรากำไรสุทธิไม่เคยเกิน 9% เลยในช่วง 4 ปีมานี้ ทั้งที่โครงการที่ทำให้บริษัทมีชื่อติดระดับนำของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับหัวแถวของไทย……

กำไรที่ต่ำนี้ทำให้ SIRI เสมือนทำธุรกิจไม่เน้นกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นไม่หวือหวาเหมือนกับกลุ่มพฤกษา หรือ ORI หรือ AP ที่เป็นคู่แข่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์

ส่วนข้อสองนั้นไม่น่าจะเป็นความจริงเพราะการมีแลนด์แบงก์สะสมไว้ (แบบนักพัฒนารุ่นพระเจ้าเหา น่าจะเป็นต้นทุนจมมากกว่า และทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการตลาดลงไป โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมที่เน้นความเร็วของโครงการมากกว่าด้านอื่น ๆ

ส่วนเหตุผลข้อสุดท้ายนั้น แม้จะเป็นเรื่องใหม่และเข้าใจได้ยาก เข้าเค้าข้อกล่าวหาทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าจะไร้อนาคตเสียทีเดียว

การทุ่มเงิน 2.0 พันล้านบาท เมื่อเดือน ก.ค. 2564 ) เข้าถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนถึง 15% ของ XPG ในราคาหุ้นละ 4.10 บาทเทียบกับราคาปัจจุบันที่ระดับใต้ 2.00 บาท อาจจะมีคนมองว่าขาดทุนป่นปี้ แต่หากเข้าใจเกมธุรกิจแล้วถือว่าเป็น เรื่องธรรมดาของการลงทุนในธุรกรรมใหม่ชนิดที่ “กำไรสูง และเสี่ยงสูง” ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง

ราคาหุ้น XPG (เดิมคือเคที ซีมิโก้) อยู่ในสภาพตายซากมานานจากการขาดทุนเรื้อรัง และในต้นปี 2564 ได้มีการเปลี่ยนการถือครองจากกลุ่มเดิมนายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ ในราคาต่ำเพียงแค่หุ้นละ 1.60 บาท โดยกลุ่มหมอระเฑียร ศรีมงคล อดีตผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น XPG ทำให้ราคาหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 5 บาท หลังจากหมอระเฑียร เข้าถือ

จากนั้นก็มีการเพิ่มทุนขายหุ้นเพิ่มทุนให้พันธมิตร 3 กลุ่ม พร้อมประกาศรุกสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมี SIRI รวมอยู่ด้วย

หุ้นเพิ่มทุนของ XPG จำนวน 1,035.33 ล้านหุ้น จัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด 3 ราย ในราคาหุ้นละ 4.10 บาท ประกอบด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI จำนวน 403.37 ล้านหุ้น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 268.91 ล้านหุ้น และนายมงคล ประกิตชัยวัฒนา จำนวน 363.04 ล้านหุ้น

ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของ XSpring ภายใต้การนำทีมของผู้บริหารซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินมาอย่างยาวนานอย่างนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการ และนายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประกอบกับการมีใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ Digital Financial Service ในด้านบริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผ่านบริษัท SE Digital (เอสอี ดิจิทัล) ในฐานะ ICO Portal ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่นักลงทุน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว จะทำให้ XSpring สามารถเดินหน้าออกโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์เป็นหลักค้ำประกันเป็นรายแรกในประเทศไทยได้ในอนาคตอันใกล้นี้

เพียงแต่หลังจากการตัดสินใจ เข้าถือหุ้นใน XPG ไปไม่นานท่าทีของกระทรวงคลังในการเรียกเก็บภาษี และท่าทีไม่สนับสนุนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเปิดเผย ส่งผลต่อราคาของ XPG ให้ร่วงลงมารุนแรง แม้ว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมาของ XPG กลับมาทำกำไรชัดเจน แม้จะไม่มากพอที่จะล้างขาดทุนสะสมให้หายไปทั้งหมด แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีจากทีมงานหมอระเฑียร

ทิศทางธุรกิจของ XPG ที่เริ่มกลับมาทำกำไร ดูค่อนข้างคล้ายคลึงกับช่วงแรกของ KTC ช่วงแรกที่หมอระเฑียรเข้าไปรับงานที่ในตอนถัดมา สามารถกลับมาทำกำไรจนราคาหุ้นวิ่งขึ้นรุนแรง แม้กระทั่งหลังจากการแตกพาร์ไปแล้ว

นักลงทุนที่ความจำไม่สั้นเสมือนหางเต่า ย่อมคุ้นเคยกับเส้นทางของราคาหุ้น KTC ที่ทำให้สมหวังกันมาแล้ว เพราะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสามารถทำกำไรได้ดีมาก ตัวอย่างของบริษัท BROOK และ JMT เป็นกรณีศึกษาได้ดี

ยามนี้ ควรที่จะสะสมมากกว่าขายทิ้ง ไม่ใช่ปล่อยให้ SIRI กลายเป็นหุ้นที่ “ตายซาก” ต่ำกว่าบุ๊กแวลูไปเช่นนี้

ใครไม่เชื่อ ก็ไม่ได้ขอร้องให้เชื่อนะครับ

Back to top button