ไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย

ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และไม่มีท่าทีที่จะสงบลง


เส้นทางนักลงทุน

ภายหลังประเทศศรีลังกาประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศกว่า 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือนกรกฎาคม 2565 รวมถึงภาระผูกพันทางการเงินในหลายภาคส่วนและเงินกู้ยืมจากรัฐบาลต่างประเทศ  จนถึงวันนี้มีคำถามว่า ประเทศไหนจะเป็นรายต่อไป???

ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และไม่มีท่าทีที่จะสงบลง ประกอบกับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ (Lockdown) เพื่อควบคุมผู้ติดเชื้อโควิดในจีน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

โดยล่าสุดตลาดซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสะท้อนว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึง 3% ณ สิ้นปีนี้ และขึ้นต่อเนื่องไปหยุดที่ 3.5% กลางปีหน้า ซึ่งหากเป็นไปตามที่ตลาดคาด วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นรอบที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวอย่างรุนแรงจนเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) อ้างอิงการศึกษาวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในอดีตตั้งแต่ปี 2508 ซึ่งมีทั้งหมด 11 รอบ พบว่ามีถึง 8 ครั้งที่การขึ้นดอกเบี้ยนำไปสู่ภาวะถดถอย และมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่ Fed สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

โดยใน 3 ครั้งดังกล่าว ซึ่งได้แก่ในปี 2508 ปี 2526 และปี 2536 เป็นการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (สูงสุดในช่วงการขึ้นดอกเบี้ย อยู่ในระดับไม่เกิน 4%) ซึ่งทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจจึงยังสามารถขยายตัวต่อไปได้ แต่ในครั้งนี้อัตราเงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับ 8% เฟดจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาเตือนประเทศในทวีปเอเชียว่า จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามยูเครนไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยพิษของสงครามทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง เศรษฐกิจเอเชียจะซบเซา

โดยแอนน์-มารี กูลด์-วูล์ฟ รักษาการผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียเผชิญกับอนาคตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยจะมีการเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก จึงได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียลงเหลือ 4.9% อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด

ไอเอ็มเอฟระบุว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.2% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคม อย่างไรก็ดี เอเชียยังถือเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก และเป็นแหล่งสำคัญของการเติบโตทั่วโลก

อย่างไรก็ดี การรุกรานยูเครนของรัสเซียและการคว่ำบาตรมอสโกของชาติตะวันตก ส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ ๆ กำลังจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อประเทศที่มีภาระหนี้สูง

การชะลอตัวที่มากกว่าที่คาดในจีน เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อ และการตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยาวนานเกินกว่าที่คาด ทำให้ความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงมากขึ้น

รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องตอบสนองอย่างแข็งขัน โดยเริ่มจากกำหนดเป้าหมายไปที่การให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อหนักหนาสาหัสที่สุด หลายประเทศต้องกระชับนโยบายทางการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนประเทศที่มีภาระหนี้สูงก็ต้องลดค่าใช้จ่ายและหาทางปลดหนี้

วิกฤตโควิด ทำให้แต่ละประเทศมีการกู้หนี้ยืมสินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องให้เงินชดเชยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและประชาชนต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันเมื่อโควิดเริ่มบรรเทาลง แต่ผลกระทบยังคงอยู่ โดยประเทศที่เคยมีปัญหาด้านเศรษฐกิจต้องเผชิญกับปัญหาหนักขึ้น ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่จะเข้าสู่ช่วงของความยากลำบาก เพราะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เช่น ตุรกี เลบานอน ตูนิเซีย เวเนซุเอลา เนปาล สำหรับประเทศที่มีหนี้เยอะ เช่น อาร์เจนตินา ฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่เปราะบางจากมีการขาดดุลเดินสะพัดมาก เช่น ศรีลังกา ที่ประกาศไม่ชำระหนี้ เพราะประสบปัญหาวิกฤตราคาอาหารและราคาพลังงานแพง

สำหรับประเทศไทยนั้น ทั้งกระทรวงการคลัง, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ระหว่าง 3.2-3.5% มีอัตราเงินเฟ้อ 5% ไทยมีการกู้ยืมไม่มาก มีเงินทุนสำรองสูง  และธนาคารพาณิชย์ของไทยตั้งสำรองเกินเกณฑ์ขั้นต่ำมาก ดังนั้นเศรษฐกิจของไทยยังสามารถเติบโตได้ แม้จะเติบโตใน “ภาวะชะลอตัว” ก็ตาม

Back to top button