วงศาคณาญาติ กับหุ้น POMPUI

POMPUI ที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียน เริ่มเข้าเทรดในตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.38 ซึ่งวันที่เข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นเคยสูงสุดของวันมากถึง 64 บาท


ในที่สุดนับแต่วันที่ 25 เมษายน 2565 ซึ่งศาลฎีกาประกาศชี้ขาดถึง ความขัดแย้งของตระกูลโตทับเที่ยง ผู้ก่อตั้งและบริหารบริษัท กว้างไพศาล จำกัด หรือ POMPUI แบรนด์ปลากระป๋อง ปุ้มปุ้ย หรือที่รู้จักกันในตลาดอาเซียนในนาม smiling fish รวมถึงเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ของจังหวัดตรัง ถือเป็นหนึ่งในมหากาพย์ของวงการธุรกิจไทย เมื่อกลุ่มเครือญาติเกิดความขัดแย้งในการบริหารธุรกิจครอบครัวหรือที่เรียกกันว่า “กงสี” จนเกิดการฟ้องร้องเพื่อแบ่งทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2559

คำสั่งศาลฎีกาให้มีการแบ่งทรัพย์สินของตระกูลโตทับเที่ยง ประกอบด้วยหุ้นของบริษัทในเครือ 19 บริษัทให้แก่พี่น้องทั้ง 10 คน เท่า ๆ กัน ส่วนที่ดินกว่า 30 แปลง อาคารร่วม 25 ห้องให้โอนเป็นของบริษัทในเครือ

หลังมีคำพิพากษา นายสุธรรม โตทับเที่ยง โจทก์ในคดีดังกล่าว ยืนยันว่า เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าความขัดแย้งในหมู่เครือญาติตระกูลโตทับเที่ยงยุติลง พร้อมเตรียมส่งหนังสือเชิญนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ หลังจากนี้ ทั้งด้านทรัพย์สินของกงสี และการบริหารจัดการบริษัทในเครือทั้ง 19 บริษัท พร้อมชะลอการบังคับตามคำพิพากษาออกไปก่อน

นายสุธรรมย้ำว่า “วันนี้ความขัดแย้งเล็กน้อยในหมู่เครือญาติสิ้นสุดลงแล้ว และถือว่าทุกฝ่ายวิน-วิน ไม่มีใครเสีย โดยทุกคนได้ในสิ่งที่ตนควรจะได้รับ การบริหารบริษัทหลังจากนี้ ไม่ปิดโอกาสที่นายสุรินทร์จะเข้ามาร่วมงานด้วย เพราะเรามองคนในครอบครัวก่อนอยู่แล้ว” และว่า จากนี้ไปแต่ละธุรกิจในเครือจะเดินหน้าเต็มที่ ในฐานะธุรกิจครอบครัวโตทับเที่ยง พร้อมเดินหน้าล้างภาพความขัดแย้ง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะ อาหารกระป๋องตราปุ้มปุ้ย ที่ถือเป็นเรือธงของกลุ่มบริษัท

คำประกาศดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในวันที่ 30 เมษายน 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI ก็มีมติประกาศงดจ่ายเงินปันผลประจำปี เนื่องจากมีกำไรสุทธิค่อนข้างต่ำเกินกว่าจะจ่ายได้ เพราะตัวเลขขาดทุนสะสมยังปรากฏให้เห็นอยู่ 307 ล้านบาท ยังมากกว่าส่วนผู้ถือหุ้นที่มีเหลืออยู่ประมาณ 290 ล้านบาท

ข่าวดีจากกำไรสุทธิต่อเนื่องเพียงเล็กน้อยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาที่ยังไม่เพียงพอต่อการล้างขาดทุนสะสมให้หมดไป ผสมกับข่าวดีเรื่องกลุ่มโฮลดิ้งผู้ถือหุ้นใหญ่ของ POMPUI น่าจะถือได้ว่ายังไม่เพียงพอกับการพลิกฟื้นสถานการณ์ของบริษัทมหาชนจดทะเบียน ให้น่าวางใจได้เลย

กรณีความขัดแย้งของคนในตระกูลโตทับเที่ยงระหว่างกลุ่มนายสุธรรมและนายสุรินทร์ โตทับเที่ยงผูกโยงเข้ากับบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI ที่กำลังอยู่ในบัญชีบริษัทที่ต้องฟื้นฟูกิจการ และหยุดการซื้อขายในตลาดมายาวนาน

ในปี 2559 นายสลิล โตทับเที่ยง กรรมการคนหนึ่งของ POMPUI ในฐานะตัวแทนของพี่น้องตระกูล โตทับเที่ยง ซึ่งร่วมถือหุ้นในบริษัทแม่ของ POMPUI คือบริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ได้หอบหนังสือหลักฐานเข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินการเบื้องต้นเรียกค่าเสียหายจากนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท 100 ล้านบาท

ข้อกล่าวหาครั้งนั้นคือ “บริหารงานโดยไม่สุจริตหลายครั้ง”

ข้อกล่าวหาดังกล่าว อาจจะถือเป็นเรื่องไม่ผิดปกติ เพราะสามารถว่าไปตามกระบวนพิจารณาคดีความกันตามกฎหมาย แต่ข้อกล่าวหาในกรณีบริษัทมหาชนจดทะเบียนเช่นนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง เพราะเท่ากับเข้าข่ายว่าผู้ถูกกล่าวหา สอบตกในเรื่องคะแนนธรรมาภิบาลหรือ CG อย่างจังเบอร์

ศาลรับฟ้องเมื่อใด นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง คงจะต้องหลุดจากทุกตำแหน่งใน POMPUI โดยปริยาย ตามกติกา แต่ก่อนถึงจุดนั้น ต้องพิสูจน์ว่า หากมีการทุจริต ทำไมผู้ตรวจสอบบัญชีผ่านให้ตลอด เป็นโจทย์ที่ไม่อาจซี้ซั้วเชื่อ

ความจริงแล้วเรื่องราวข้อพิพาทระหว่างพี่น้องตระกูล โตทับเที่ยง นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเป็นข่าวใหญ่ในสื่อจำนวนมาก แต่ละฝ่ายของคู่กรณีก็นำเหตุผลมาโจมตีอีกฝ่าย และ ป้องกันตัวเองเต็มที่ ถือเป็นศึกสายเลือดที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ระดับ ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของ จังหวัดตรัง ที่เป็นรากฐานของธุรกิจตระกูลนี้มายาวนาน 2 ชั่วอายุคน นับแต่ยุคผู้ก่อตั้ง นายโต๋ว ง่วนเตียว และนางยิ่ง โตทับเที่ยง ผู้วางรากฐานให้ลูกจนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ของจังหวัด ก่อนที่จะขยายตัวแพร่ชื่อไปทั่ว กับแบรนด์ปลากระป๋อง ปลายิ้ม ที่นายสุรินทร์เสมือนหนึ่งเป็น “ตัวเปิด” ของคนในตระกูล

ความขัดแย้งที่บานปลายจากเรื่องของผลประโยชน์และอารมณ์คนในธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่กรณี POMPUI เกิดขึ้นในช่วงที่ธุรกิจกำลังฟื้นตัวกลับมาอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่พวกพี่น้องในตระกูลยังเชื่อว่าเป็นธุรกิจส่วนตัว คือ POMPUI ทั้งที่โดยนิตินัยแล้ว บริษัทดังกล่าวได้แปลงฐานะเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนไปนานแล้ว

POMPUI ที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียน เริ่มเข้าเทรดในตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 ซึ่งวันที่เข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นเคยสูงสุดของวันมากถึง 64 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท แต่ราคาหุ้นของ POMPUI ก็กลับร่วงลงต่อเนื่องหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ระดับ 3 บาท จนถึงปี 2546 ที่ได้รับอานิสงส์จากการวิ่งขึ้นของดัชนีตลาด จึงวิ่งแรงใหม่ ขึ้นมาถึง 17.60 บาท แล้วกลับลงไปใหม่ที่ราคาหุ้นร่วงลงใต้ 3.00 บาท พร้อมกับฐานการเงินย่ำแย่ จนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ POMPUI จึง เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะหยุดซื้อขายเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ราคาปิดสุดท้ายของราคา POMPUI อยู่ที่ระดับ 2.16 บาท และหยุดซื้อขายจนถึงปัจจุบัน

แม้จะหยุดเทรดไปยาวนานเกือบ 10 ปี แต่ POMPUI ก็ยังคงรายงานงบการเงินต่อตลาดฯ และนักลงทุนต่อไป โดยที่ยังคงมีรายได้จากผลประกอบการต่อเนื่อง ระหว่างปีละ 1,200-1,500 ล้านบาท โดยมีกำไรสลับขาดทุน แต่ผลประกอบการช่วง 4 ปีหลังมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง แม้ตัวเลขขาดทุนสะสมจะยังมากอยู่ แต่ส่วนผู้ถือหุ้นสามารถกลับมาบวกได้

เรื่องในครอบครัวที่บานปลายเป็นการฟ้องร้อง ถึงขั้นแผ่รังสีอำมหิตเพื่อ “ล้มกระดาน” ที่ทำให้โอกาส POMPUI ที่สามารถพลิกฟื้นฐานะมาได้อีกครั้ง ถือเป็นความขัดแย้งในกลุ่มวงศาคณาญาติที่กัดกร่อนความแข็งแกร่งของบริษัทอย่างจริงจัง และการกลับมาคืนดีก็น่าที่จะช่วยนำความคาดหวังเชิงบวกกลับมาได้

นายสุรินทร์ โตทับเที่ยงที่ผดุงรักษาฐานะของ POMPUI น่าจะยินดีปรีดามากที่สุดในบรรดาพี่น้องของตระกูลโตทับเที่ยง

นักลงทุนในยามนี้ ได้แต่หวังว่าในส่วน ของการบริหาร POMPUI ที่นายสุธรรม อธิบายว่า จะมีทีมบริหารใหม่เข้ารับช่วงต่อจากทีมเก่า ตั้งแต่เดือน พฤษจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยประกอบด้วยสมาชิกตระกูลโตทับเที่ยงทั้งเจน 1 และ 2 หรือพี่น้องและหลาน ๆ รวมกว่า 30 คน เข้ามารับหน้าที่ทั้งส่วนกำหนดนโยบายในฐานะกรรมการ และผู้บริหารงานโดยตรง มีตนเป็นประธานกรรมการ…จะสามารถทำได้สวยอีกครั้ง

เพราะ POMPUI น้ัน โดยทฤษฎีแล้ว ไม่ใช่แค่บริษัทส่วนตัวของตระกูลโตทับเที่ยงเท่านั้น

Back to top button