บูโรแครต ‘ปล้น’ ตลาดหุ้น

คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “2 บูโรแครต” อย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” จะไม่เข้าใจหลักการที่ว่า “การได้อะไรมา ก็ต้องเสียอะไรไป”


คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “2 บูโรแครต” อย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” จะไม่เข้าใจหลักการที่ว่า “การได้อะไรมา ก็ต้องเสียอะไรไป”

การจะมีรายได้ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุน ซึ่งในโลกของคนทำมาค้าขายทั่วไป เขาต้องหมั่นชั่งน้ำหนักในสิ่งที่ทำว่ามัน “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่

นอกจากเรื่องของเงินเฟ้อขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว ในประเทศไทยเราเองก็มีปัจจัยกดดันตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน แถมยังเป็นประเด็นที่อาจจะน่าสะพรึงกว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเสียอีก

เรื่องแรกคือ ภาษีขายหุ้น หรือจะเรียกให้สอดคล้องในเชิงปฏิบัติว่าการเรียกเก็บ “ค่าคอมมิชชั่น” ก็คงไม่ผิดนัก

เป็นเรื่องน่าดีใจแทนนักลงทุนที่เห็น “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

โดยระบุถึง 4 ปัจจัยที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม อันเกี่ยวข้องกับเรื่อง อัตราการจัดเก็บไม่เหมาะสม การระดมทุนมีต้นทุนสูงขึ้น ต้นทุนซ้ำซ้อนของผลิตภัณฑ์การเงินเชิงนวัตกรรม และช่วงเวลาเหมาะสมของการประกาศใช้

ประการที่หนึ่ง เรื่องอัตราจัดเก็บ ตรงนี้ไม่เหมาะแน่ เพราะตัวเลข 0.1% ที่คลังใคร่จะได้นักหนา เกิดจากการอ้างอิงข้อมูลค่าคอมฯ โบรกเกอร์เมื่อปี 2534 หรือกว่า 30 ปีที่แล้วโน่น!

สมัยนั้นจ่ายกันเฉลี่ยอยู่ที่ “ล้านละห้าพัน” หากว่าเก็บภาษี “ล้านละพัน” ก็เท่ากับอัตราส่วน “5 ต่อ 1” ซึ่งไม่กระไรนัก

สมัยนี้ค่าคอมฯ ลดลงตามภาวะแข่งขัน ข้อมูลจากตลาดฯ บอกว่าเฉลี่ยอยู่ที่ “ล้านละแปดร้อย” หรือจะคิดเป็นอัตราส่วน “0.7 ต่อ 1” ซึ่งบ่งชี้ว่า “ค่าคอมฯ รัฐ” ยังจะแพงกว่า “ค่าคอมฯ โบรกเกอร์” เสียอีก

ถ้าไปดูในส่วนของบรรดาขาใหญ่กับ “โรบอทเทรดเดอร์” ซึ่งมีอำนาจต่อรองค่าคอมฯ มากกว่าเพราะมี “วอลุ่มเทรด” สูงกว่ารายย่อยทั่วไปหลายเท่า ส่วนใหญ่ก็จ่ายกันอยู่ไม่เกิน “ล้านละสองร้อย” เท่านั้น

แน่นอนว่ากลุ่มเหล่านี้คงหายหน้าจากสังเวียนเทรดไปอย่างแน่นอน ส่วนที่เหลืออยู่บ้างก็คงต้องเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ กลายมาเป็นพวกลงทุนระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่าลืมว่าขาใหญ่และกองทุนชั้นดีที่สร้างคุณูปการต่อตลาดหุ้นมีอยู่ไม่น้อยนะจะบอกให้ โดยเฉพาะการเป็น “มาร์เก็ต เมกเกอร์” ที่คอยสร้างสีสันให้การเก็งกำไรดูฉูดฉาดมากขึ้น

ประการที่สอง การระดมทุนผ่านการออกหุ้นเป็นอีกเรื่องที่จะยากขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นไอพีโอ หรือเพิ่มทุนในตลาดรอง

ตลาดหุ้นน่ะ ลำพังเจอแค่ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจบวกกับยาแรงทางการเงิน มันก็สาหัสมากพออยู่แล้ว

การเก็บภาษีฯ จะยิ่งทำให้เกิดอาการเมาหมัดหนักข้อขึ้น สภาพตลาดจะซบเซาลง นักเก็งกำไรจำนวนมากจะล้มหายตายจากกันไป สิ่งที่ตามมาคือความนิยมของตราสารทุนที่ลดลง ส่งผลให้การระดมทุนต้องมีต้นทุนสูงขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจ

ไม่รู้ว่า “2 บูโรแครต” เคยสำเหนียกกันบ้างหรือไม่ว่าทั้งการจ้างงาน การลงทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของภาคเอกชน ซึ่งเป็น “คอนทริบิวชั่น” สำคัญต่อจีดีพีประเทศเนี่ย ส่วนใหญ่ก็มีสารตั้งต้นจากเงินระดมทุนในตลาดฯ นี่แหละ

ประการที่สามและสี่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องของการประกาศใช้กฎหมายที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่เหมาะสม

ซึ่งการตัดสินใจว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ อะไรควรทำหรือยังมิควรทำในห่วงเวลาใด ทั้งหมดนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะความเป็นผู้นำ ตลอดจนระดับภูมิปัญญาและวิสัยทัศน์ของผู้ตัดสินใจ

เรื่องที่สอง…ยิ่งน่าแปลก เพราะตัวตั้งตัวตีคือท่าน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ซึ่งไม่ใช่บูโรแครตเหมือนกับสองรายแรก เคยนั่งตำแหน่งบริหารระดับสูงและกรรมการในกลุ่มปตท. แถมยังคร่ำหวอดในวงการหลักทรัพย์ที่ไทยพาณิชย์ด้วยซ้ำไป

การขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซให้นำส่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในช่วงระหว่างเดือน กรกฎาคมถึงกันยายนนี้

ก่อนอื่นคงต้องขอคารวะใครก็ตามที่กล้าเรียกพฤติการณ์ในลักษณะนี้ว่าเป็นการ “ขอความร่วมมือให้นำส่งกำไร” เพราะแค่ต้องเขียนถึง ยังรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวอย่างไรบอกไม่ถูก

หลายคนคิดว่าคงต้องใช้คำจำพวก ปล้น เก็บค่าคุ้มครอง ขอรับบริจาค หรืออะไรเทือกนั้น…อาจจะมีความหมายที่สอดคล้องกับพฤติกรรมมากกว่า

แต่จะใช้วาทกรรมอะไรกันอย่างไรก็เอาเถอะ คำถามสำคัญเลยคือ “อยู่ ๆ จะให้บริษัทมหาชนจำกัดที่มีทั้งพ.ร.บ.มหาชนฯ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จ่อคอหอย เอาเงินออกมาจ่ายกันดื้อ ๆ…มันทำได้จริงหรือ?”

หรือจะบอกว่าโรงกลั่นส่วนมากรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม กระนั้นก็อย่าลืมว่านอกจากรัฐ ยังมีคนไทยจำนวนมากทั้งที่ถือเองหรือผ่านกองทุน และนักลงทุนต่างชาติที่ต่างไว้เนื้อเชื้อใจเอาเงินจำนวนไม่น้อยมาลงทุนด้วย

แบบนี้จึงอยากเสนอว่าไหน ๆ กล้าไถทั้งที ก็ไถให้มันมีรูปมีทรงหน่อยไหม! เอาแบบโหวตจ่ายกันเป็นปันผลตามจำนวนที่อยากได้ออกมาเลย

PTT ทำหน้าที่ไปรวบรวมปันผลจาก TOP PTTGC และ IRPC ในส่วนของโรงกลั่น มาผนวกรวมกับปันผลจากธุรกิจโรงแยกก๊าซ 

เท่านี้เอง! คลังได้เต็ม ๆ ไปเลย…แต่ไม่น่าเกลียด เพราะผู้ถือหุ้นรายอื่นก็ได้ด้วยเหมือนกัน

อย่างว่าแหละ ถ้ามันจนปัญญาไม่รู้จะแก้ปัญหาน้ำมัน (ที่มันแพงจากกลไกตลาด) อย่างไร แต่ยังดั้นด้นจะทำ มันก็หนีไม่พ้นต้องหาวิธีพิเศษมาใช้

แต่วิธีพิเศษประเภทล้วงกันถึงกล่องดวงใจแบบนี้ มันแลดูเป็นการสะท้อนภาพของบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไร้ขื่อแปจนเกินไปสักหน่อย

สไตล์ไทยเราเวลาอยากมีเพื่อนหรือคู่ค้า เขาให้ทำอะไรเปลี่ยนอะไรก็เออออไปกับเขาหมดถ้าสมประโยชน์ แต่ครั้นรู้สึกว่าถูกบีบคั้นเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะหาเรื่องชวนตี ไล่ตะเพิดเขาไปง่าย ๆ ได้เหมือนกัน

อีแบบนี้ฝรั่งมังค่าจะนินทาเอาได้ง่าย ๆ ว่าเราเป็นพวก “ได้จะเอา แต่เสียไม่จ่าย”

“คลัง” ตั้งเป้าเก็บรายได้ 1 หมื่นล้านต่อปีจากสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ภาษีขายหุ้น” ส่วน “พลังงาน” ตั้งเป้าจะหาเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ให้ได้กว่า 2 หมื่นล้านในช่วงระยะ 3 เดือน

ทั้ง 2 เป้าที่ว่านี้ก็คงหนีไม่พ้นเป็นบัญชาของบูโรแครตรุ่นใหญ่อย่าง “พล.อ.ประยุทธ์” อีกนั่นแหละ

แต่นั่นไง! เพราะความเป็นบูโรแครต หรือหมายถึงเป็นผู้ใช้งบประมาณแผ่นดินมาตลอดชีวิต จึงนึกไม่ออกหรือไม่เข้าใจว่าการได้อะไรมาแล้วต้องเสียอะไรไปนั้นคืออะไร

งานนี้ที่จะเสียแน่ ๆ คือ วอลุ่มตลาดฯ ซึ่งจะนำไปสู่การระดมทุนที่ยากขึ้น การจ้างงาน หรือจัดซื้อ-จัดจ้างในมิติต่าง ๆ ก็จะลดน้อยหายลงไป ผลประกอบการของบริษัทห้างร้านเกิดข้อจำกัดในการเติบโต

ยอดภาษีเงินได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดา กระทั่งภาษีที่บรรดาโบรกเกอร์ซึ่งเคยได้ค่าคอมฯ ปีหนึ่งรวม ๆ กันไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านต้องจ่าย ก็จะไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้า

สุดท้ายคือความน่าเชื่อถือ หรือ Trustworthiness ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก ซึ่งแน่นอนว่ายากต่อการประเมินมูลค่า แต่คงไม่ยากต่อการคาดเดาจนเกินไปนัก ว่ามันอาจนำไปสู่ความเสียหายอื่น ๆ ที่ตามมาภายหลังได้ 

Back to top button