ตื่นตูม (หุ้น) เหมืองโปแตซ

ถือเป็นการปรากฏการณ์ “ตื่นตูมเหมืองโปแตซ” อีกครั้ง.! หลังจากที่เคยเกิดขึ้นกับเหมืองโปแตซชัยภูมิ เมื่อช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา


หลังปรากฏข่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดินหน้า “เหมืองแร่โปแตซ” ในจังหวัดอุดรธานี ภายใต้บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ทำให้เกิดการเข้าเก็งกำไรหุ้นบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC กันอย่างคึกโครม..!!

ทำให้หุ้น ITD จากเคยซื้อขายเฉลี่ยวันละไม่ถึง 30 ล้านบาท ได้เห็นมูลค่าซื้อขายสูงถึง 712 ล้านบาท ราคาปิด 2.22 บาท เพิ่มขึ้น 0.37 บาท (+20%) เช่นเดียวกับหุ้น TRC ที่เคยซื้อขายเฉลี่ยวันละไม่ถึง 20 ล้านบาท มีมูลค่าซื้อขายกว่า 138 ล้านบาท ราคาปิดชนซิลลิ่ง 0.36 บาท

ถือเป็นการปรากฏการณ์ “ตื่นตูมเหมืองโปแตซ” อีกครั้ง.! หลังจากที่เคยเกิดขึ้นกับเหมืองโปแตซชัยภูมิ เมื่อช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมีวงจรการขึ้นของราคาหุ้น TRC เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น..!

โดย “เหมืองแร่โปแตซชัยภูมิ” ดำเนินการโดยบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ที่มี TRC ถือหุ้น 25.12% กระทรวงการคลัง 20% บริษัท ไทย-เยอรมันไมนิ่ง จำกัด 18.72% ตัวแทนจากรัฐบาลมาเลเซีย 5.96% ตัวแทนจากรัฐบาลอินโดนีเซีย 5.96% และอื่น ๆ 26.90%

โดยมีพื้นที่โครงการในต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตร เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 58 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 17.33 ล้านตัน/อายุโครงการ มีแผนการผลิต 1,100,000 ตันต่อปี มีการทดลองทำเหมือง โดยก่อสร้างอุโมงค์ถึงชั้นแร่แล้ว

แต่มาจนถึงขณะนี้แผนระดมเงินทุนเพื่อพัฒนา “เหมืองแร่โปรแตซชัยภูมิ” ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เลย โดยเฉพาะหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลัง ไม่สามารถหาเงินมาเพิ่มทุนได้ จึงทำให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ชะลอการเพิ่มทุนด้วยเช่นกัน

นั่นจึงเป็นเหตุให้ TRC จากที่เคยตื่นตูมกับเหมืองโปรแตซชัยภูมิ กลายสภาพมาเป็นหุ้นไม่เต็มบาทตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา..!!

สำหรับ “เหมืองแร่โปแตซอุดรธานี” ดำเนินการโดยบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ที่มี ITD เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 90% ที่เหลืออีก 10% ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง เป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจแร่โปแตซ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จากกระทรวงอุตสาหกรรม เบื้องต้นมีการสำรวจพบแร่คุณภาพดี 2 แหล่ง คือแหล่งอุดรใต้และแหล่งอุดรเหนือ โดยมีแผนพัฒนาแหล่งอุดรใต้ เป็นอันดับแรก

โดยประกอบด้วยพื้นที่คำขอประทานบัตร 4 แปลง ตั้งอยู่ในเขตบางส่วนของต.โนนสูง ต.นองไผ่ และต.หนองขอนกว้าง อ.เมืองอุดรธานี กับเขตบางส่วนในต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พื้นที่รวมประมาณ 26,446 ไร่

การสำรวจเบื้องต้น พบว่า แหล่งแร่วางตัวแนวค่อนข้างราบ ที่ความลึกจากผิวดิน 300-400 เมตร ความหนาของชั้นแร่เฉลี่ย 3-4 เมตร และมีความสมบูรณ์เฉลี่ย 23.50% ใช้ระยะก่อสร้างประมาณ 2 ปี ระยะเวลาการทำเหมือง 21 ปี และระยะการปิดเหมืองและฟื้นฟูสภาพเหมือง 2 ปี มีกำลังการผลิตแม่ปุ๋ยโปแตซสูงสุด 2 ล้านตันต่อปี

หากถอดบทเรียนจากหุ้น TRC และเหมืองโปแตซชัยภูมิในอดีต..การเข้าเก็งกำไรหุ้น ITD-TRC วานนี้อาจเป็นเพียงสงครามวันเดียวหรือเกมปั๊มราคาหุ้นระยะสั้นเท่านั้น..ว่าแต่ว่าใครจะติด (หุ้น) แล้วติดเลย..คงต้องวัดดวงกันไป..งานนี้ตัวใครตัวมันกันแล้วหละ..!?

Back to top button