พาราสาวะถี

วันเสาร์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นวันหยุดแต่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง


วันนี้ (4 กรกฎาคม) ติดตามการแถลงข่าวของ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะแถลงสถานการณ์สายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ระบาดในไทยขณะนี้ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการตรวจสายพันธุ์ และวิเคราะห์เป็นรายสัปดาห์เพื่อพิจารณาถึงความเร็วในการแพร่ระบาดว่ามากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่า เวลานี้คนส่วนใหญ่ต่างจับจ้องมองกันว่าโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เข้ามายึดครองพื้นที่การระบาดในประเทศไทยร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหรือยัง

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ด็อกเตอร์วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แถลงข่าวไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คาดว่าสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะเข้ามายึดครองพื้นที่การแพร่ระบาดในไทยประมาณปลายสิงหาคม หรือต้นเดือน กันยายนนี้ ด้วยเหตุที่ว่า ทุกประเทศผ่อนคลายมาตรการ แม้แต่ อย.สหรัฐอเมริกาก็แนะนำให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนปรับสูตรเข็มบูสเตอร์รับมือสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดในขณะนี้ แนวโน้มทั่วโลกสายพันธุ์ย่อยใหม่ ๆ จะเข้ามาครองพื้นที่

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าจะช่วยทำให้เบาใจกันได้บ้าง คงเป็นข้อมูลจากฐานข้อมูลโลก หรือ GISAID ที่พบว่าสถานการณ์ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน BA.4-BA.5 ในแถบยุโรปพบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มชันมากจนมีนัยสำคัญ อัตราการเสียชีวิตยังคงที่ เปรียบเทียบอาจจะใกล้เคียง หรือน้อยกว่าช่วงการระบาดของโอมิครอนที่เป็นสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ส่วนที่โปรตุเกส ซึ่งก่อนหน้านี้มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

จนถึงขณะนี้กราฟเริ่มลดความชันลง หากมีสถานการณ์ที่น่ากังวลใด ๆ ทางองค์การอนามัยโลกก็คงต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อเตรียมการรับมือ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ดังนั้น แม้จะกังวลต่อการระบาดที่น่าจะเร็วขึ้นกว่าโอมิครอนชุดเดิม สิ่งที่พอจะทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกกันได้คงเป็นเรื่องความรุนแรงของโรค หากตัวเลขของผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และอัตราการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับที่เป็นอยู่ ก็คงจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขเบาใจ และยังสามารถที่จะเดินหน้านำโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเป้าได้

วันเสาร์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นวันหยุดแต่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง และเป็นการทำงานในวันหยุดในเรื่องที่สำคัญเสียด้วย เมื่อมีการนำทีมบริหารคนสำคัญหารือร่วมกับ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ภายหลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 12/2565 ในวาระสัญญาการจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ซึ่งใช้เวลาคุยกันนานกว่า 4 ชั่วโมง

บทสรุปที่ออกมาไม่ทราบว่าจะทำให้ทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ในฐานะผู้ถูกว่าจ้างโดยเคทีให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 สบายใจได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่ประธานกรรมการบริหารเคทีชี้แจงคือ สัญญาการจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 จะมีการเจรจาค่าใช้จ่ายเดินรถตามสัญญา แต่มีการทบทวนตัวเลขแล้วพบว่า สูตรคำนวณมีความคลาดเคลื่อนบางประการ ซึ่งจะไปดูตัวเลขอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรอื่น ๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จำนวนผู้โดยสาร วิธีการชำระเงิน ซึ่งตามสัญญามีการเปิดช่องให้เจรจา โดยจะเริ่มการเจรจาภายในเดือน กรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ถูกจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางคือ การต่อสัญญาสัมปทานที่ถูกมองว่ามีการเตรียมยืดอายุสัมปทานออกไปเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และขยายเวลาออกไปนานจนผิดสังเกตนั้น ธงทองก็ยืนยันว่า การเจรจาจ้างเดินรถใหม่กับบีทีเอสซี ที่เรียกร้องว่า ควรจะให้สิ้นสุดที่ปี 2572 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่บีทีเอสหมดสัญญาสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลักนั้น คงต้องเจรจาภายใต้กรอบสัญญาเดิมถึงปี 2585 จะไปทุบทิ้งสัญญากลางทางก็ใช่ที่ ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอื่นมาสนับสนุน

เรื่องขยายสัญญาสัมปทานอาจเป็นเรื่องรอง เพราะปมใหญ่ที่ทางผู้ว่าฯ กทม.ร้อนใจ โดยที่มีภาคประชาสังคมคอยตรวจสอบอยู่ก็คือหนี้ที่ถูกทางเอกชนฟ้องร้อง สิ่งที่ธงทองอธิบายนอกจากจะเจรจาจ่ายหนี้ส่วนต่อขยายที่ 1 แล้ว มีการตั้งข้อสังเกตว่าส่วนของสัญญาการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับส่วนต่อขยายที่ 1 คือ ไม่มีการพิจารณาอนุมัติจากสภา กทม. จึงให้ผู้ว่าฯ กทม.ไปพิจารณาตามขั้นตอนให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ มีสิ่งที่ทำให้ทางเอกชนน่าจะยังไม่สามารถดีใจได้ คงเป็นเรื่องที่บอกว่าที่ประชุมมีการทบทวนทั้งความถูกต้องของสัญญาเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และค่าใช้จ่ายเดินรถ โดยที่ประเด็นความถูกต้องของสัญญามีการร้องเรียนกล่าวหาอยู่ในชั้นของ ป.ป.ช. การตรวจสอบจึงอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. โดยคณะกรรมการเคทีชุดใหม่จะทำหนังสือไปยัง ป.ป.ช. เพื่อประสานความร่วมมือให้ข้อมูลเต็มที่ รวมไปถึงให้ ป.ป.ช.แจ้งกลับมาว่าขั้นตอนการสอบสวนถึงขั้นตอนใดแล้ว

ขณะที่ชัชชาติก็ย้ำว่า กทม.ต้องจัดการหนี้เกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งยินดีชำระหนี้ถ้าถูกต้องตามขั้นตอน ตามกฎหมาย สิ่งแรกที่ กทม.ทำ ต้องดูที่มาที่ไปของหนี้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ มีการอนุมัติจากสภา กทม.หรือไม่ โดยเฉพาะหนี้ที่รับโอนมา พอสภา กทม.เปิดในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ จะเข้าไปสอบถามว่ามีการทำครบถ้วนหรือไม่ ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพราะสภา กทม.เป็น 1 ใน 4 ขององค์ประกอบพิจารณาเรื่องนี้ ที่ผ่านมาบางเรื่องสภาไม่ได้รับทราบ ก่อนจะไปก่อหนี้สภาควรจะรู้ก่อนว่าจ่ายค่าจ้างเดินรถรายปี

สุดท้าย บทสรุปของผู้ว่าฯ กทม.ที่ทำให้เอกชนยังต้องร้องเพลงรอต่อไป เป็นเรื่องการตั้งข้อสังเกตที่ระบุว่า “เป็นเรื่องแปลกที่มีข้อบัญญัติ กทม.อนุมัติให้กู้เงินเพื่อจ่ายหนี้ แต่ยังไม่เห็นมติที่รับโอนหนี้มา” คงต้องไปถามสภา กทม.อีกทีว่า ที่ออกมาแบบนี้หมายความว่าคุณยอมรับหนี้แล้วใช่ไหม การหาเงินไปจ่ายหนี้กับการรับหนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เป็นคนละบริบท แต่เราไม่อยากรีบจ่าย เพราะถ้าจ่ายหนี้ไปแล้วไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมายรองรับ ก็จะเหมือนกับกรณีที่ผ่านมา ต้องเอาให้รอบคอบ เหมือนจะจบแต่ไม่น่าจบง่าย ๆ แน่นอน

Back to top button