‘ดอกเบี้ย-ฟันด์โฟลว์’ ตัวแปรชี้ชะตา ‘หุ้นไทย’ ครึ่งปีหลัง

ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมของไทยนั้น ธปท.จะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและแรงมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง


เส้นทางนักลงทุน

6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2565 ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย (SET) ไม่สดใส ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นติดลบกว่า 5.38% ตามการทรุดลงของดัชนีจาก 1,657.62 จุด ณ สิ้นปี 2564 ลงสู่ 1,568.33 จุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงไปต่ำสุดที่ 1,544 จุด ลดลงเกือบ 7%

แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาตินับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาส 2 แม้จะยังเป็นบวก มียอดซื้อสะสม 112,629.42 ล้านบาท แต่เฉพาะในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออก 29,387.44 ล้านบาท

สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยที่ก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายขายต่อเนื่อง ในช่วง 6 เดือนมียอดขายสุทธิอยู่ 25,098.37 ล้านบาท แต่ในเดือนมิถุนายนกลับมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิถึง 27,512.87 ล้านบาท

ขณะที่นักลงทุนอีก 2 กลุ่ม คือ สถาบันในประเทศไทย และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะกลายเป็น “ผู้ชม” นั่งมองการสู้กันระหว่างรายย่อยและต่างชาติเสียมากกว่า ทำให้ในเดือนนี้สถาบันในประเทศเก็บของเข้าพอร์ตเล็กน้อยเพียงแค่ 1,877.77 ล้านบาท แต่ถ้าดูตัวเลขทั้งปี นักลงทุนกลุ่มนี้เป็นผู้นำเทกระจาดหุ้นไทยขายสะสม 88,974.61 ล้านบาท

ส่วนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์หรือพอร์ตโบรกเกอร์ ในเดือนมิถุนายนขายหุ้นออกน้อยนิด 3.20 ล้านบาท แต่หากนับจากต้นปี ก็ยังมียอดเก็บสะสมของเข้าพอร์ตอยู่บ้าง 1,443.56 ล้านบาท

มีคำถามว่านักลงทุนต่างชาติที่เคยซื้อสุทธิมาตลอดทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี กลับกลายมาเป็นฝ่ายสาดขายหุ้นไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ มีสาเหตุมาจากอะไร และนักลงทุนต่างชาติยังจะเทกระจาดหุ้นไทยหรือไม่ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 พบว่าแรงขายที่เกิดขึ้นของต่างชาติไม่ใช่เฉพาะหุ้นไทย แต่เป็นการขายออกทั้งภูมิภาค

โดยฟันด์โฟลว์ไหลออกจากหุ้นไทย 800 กว่าล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้กว่า 4,300 พันล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่เผชิญแรงขายด้วยเช่นกัน

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินไหลออกจากภูมิภาคก็คือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินต่าง ๆ ในเอเชียอ่อนค่าลง นำไปสู่แรงขายในพันธบัตรและหุ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณดูแลเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกจากนั้นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อได้สร้างความหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคตอันใกล้ กลับกลายเป็นปัจจัยหลักเข้ามากดดันตลาดหุ้นไทย-ตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ต่างชาติต้องขายเพื่อป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า โยกเงินลงทุนไปยังแหล่งสินทรัพย์ปลอดภัย เพราะโดยภาพรวมชี้ชัดว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะพาเหรดขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันมากขึ้นในครึ่งหลังปีนี้

ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลกอีก 6 เดือนหลังของปี 2565 จึงยังไม่น่าไว้วางใจ โดยมีแนวโน้มว่าตลาดหุ้นจะยังอยู่ในทิศทางขาลงจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ 1.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบต่อภาคครัวเรือนทันที เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 90-100% สูงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก

2.ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มพุ่งขึ้นแรงตั้งแต่ไตรมาส 2 ทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าจะทรงตัวระดับสูงต่อไปอีกด้วย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยซึ่งถูกคาดหมายจะใช้เป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา

3.เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มกังวลจนทำให้ความเชื่อมั่นลดลง

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทยมากกว่าแสนล้านบาท เป็นการสะสมหุ้นใน 2 กลุ่มหลัก คือ พลังงาน และการแพทย์ โดยต่างชาติถือครองหุ้นพลังงานเพิ่มขึ้นกว่า 3% ก็นับเป็นความเสี่ยงที่จะเห็นแรงขายออกมาอีกในอนาคต หากราคาน้ำมันพลิกผันในทางขาลง

ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศที่เป็นฝ่ายขายมาตลอด อาจเริ่มเห็นกลับมาซื้อได้บ้างหากกองทุนประเมินว่าตลาดหุ้นไทยถึงจุดต่ำสุดแล้ว เพราะจำเป็นต้องบริหารเงินเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วย อย่างไรก็ตามการยกเลิกกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เปลี่ยนมาเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) หรือ SSF ซึ่งไม่ได้จำกัดให้ต้องลงทุนเฉพาะหุ้นไทย ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น

จากตัวเลขการซื้อขายนักลงทุนรายกลุ่มนับตั้งแต่ต้นปี ต่างชาติเป็นนักลงทุนเพียงกลุ่มเดียวที่ผลักดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเดินหน้าไปได้ เมื่อหวังให้หุ้นไทยเดินหน้าไปต่อ จึงต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติมาช่วยหนุนเป็นหลัก นั่นทำให้ธนาคารกลางของไทย หรือ ธปท. จำเป็นต้องจัดการส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ ให้แคบลง ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและก็เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมของไทยนั้น ธปท.จะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและแรงมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง แม้จะมีการคาดหมายว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบวันที่ 10 สิงหาคมนี้ อาจจะได้เห็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกที่ 0.25% เพราะนั่นย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และภาคครัวเรือนไทยมากอยู่

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ตลาดหุ้นไทยจึงอาจจะตกอยู่ในภาวะ “หมี” ต่อไป แม้ระหว่างทางอาจจะมีการฟื้นตัวบ้าง แต่หากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ๆ ที่สร้างอิมแพ็กใหญ่ ๆ เข้ามากระตุ้นแล้ว ทิศทางครึ่งหลังปี 2565 นี้ ก็คงจะไม่ได้ดีกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน

Back to top button