พาราสาวะถี

งวดเข้ามาทุกขณะกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง


งวดเข้ามาทุกขณะกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เป็นกฎหมายลูก 2 ฉบับสำคัญซึ่งต้องแก้ไขให้ล้อกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มีการเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ ไฮไลท์ของกระบวนการพิจารณาวันนี้อยู่ที่สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลังจากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้ใช้สูตรหาร 500 ไปก่อนหน้านี้ แต่ทำไปทำมาก็ทำท่าว่าจะหันกลับไปใช้สูตรหาร 100 กันอีก

ท่าทีกลับไปกลับมาเช่นนี้มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเจตนาที่จะเตะถ่วงทำให้เกิดปัญหา จนสุดท้ายไม่สามารถผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ของที่ประชุมรัฐสภาได้ พูดง่าย ๆ คือ มีการจ้องที่จะคว่ำร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองตามความต้องการของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ และขบวนการ เนื่องจากมองการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว ไม่ว่าจะใช้สูตรไหนท่ามกลางกระแสนิยมขาลง ยังไงก็ไม่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งเด็ดขาด

คำถามสำคัญคือ มันจะหักดิบกันแบบหน้าด้าน ๆ อย่างนั้นเลยหรือ ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดเรื่องคุณสมบัติเฉพาะของเผด็จการสืบทอดอำนาจคืออย่างหนาเรียกพี่ เมื่อพิจารณาจากเงื่อนเวลาของการพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วนของร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะครบกรอบเวลา 180 วันที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ หากพ้นกำหนดไม่สามารถผ่านวาระสามได้ในวันดังกล่าว เรื่องสูตรหาร 500 ก็มีอันจบไป ต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 ฉบับ ครม.

อย่างไรก็ตาม เพื่อเลี่ยงข้อครหาดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ว่า แนวทางของขบวนการเผด็จการสืบทอดอำนาจที่จะดำเนินการ คือ ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการที่จะชี้ขาดว่าจะเลือกใช้สูตรไหน หาก กกต.เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือมีผลในทางปฏิบัติ แนวโน้มจะกลับไปที่สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ก็มีความเป็นไปได้สูง แต่ถ้า กกต.เห็นว่าการใช้สูตรหาร 500 ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติมันก็จะนำไปสู่กระบวนการอีกแบบหนึ่ง

กรณีที่เป็นไปตามสูตรนี้ มีความเห็นมาจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ที่ดักคอไว้ว่า ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การล้มกระดานอยู่ดีเพื่อที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของคนที่ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งสิ่งที่สมชัยวิเคราะห์ก็คือ รัฐสภาปล่อยผ่านวาระสามเป็นสูตรหาร 500 ตามที่ถลำลึกไปแล้ว จากนั้น กกต.ก็ให้ความเห็นว่าหาร 500 ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ต่อมาก็จะมี ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 75 คนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ความน่าสนใจมันอยู่ตรงนี้ สมชัยมองไม่ได้ต่างไปจากคนที่เกาะติดเรื่องนี้แต่อย่างใด เมื่อกระบวนการไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แนวโน้มที่จะวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีข้อความขัดกับรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญ ทำให้ร่างดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ หลังจากนั้นรัฐบาลก็จะแสดงความรู้สึกกังวลใจว่า หากจะเสนอกฎหมายลูกเข้ามาใหม่อาจต้องใช้เวลามาก เกรงจะไม่ทันเลือกตั้งในต้นปีหน้า บนพื้นฐานที่ว่าจะต้องมีการยุบสภาก่อนครบวาระแน่นอน

เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมาเป็นการแก้ที่ไม่ครบ  ไม่ว่าจะร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะใช้สูตรหาร 100 หรือ หาร 500 ก็มีสิทธิ์ถูกวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญอยู่ดี ด้วยความปรารถนาดีของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอแก้รัฐธรรมนูญกลับไปเหมือนเดิมคือปี 2560 และไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายลูกใด ๆ ให้เสียเวลา เพราะสามารถใช้ของเดิมได้เลย ส่วนการแก้ไขกติกาใด ๆ ให้เป็นเรื่องของรัฐบาลในอนาคต

นี่แหละที่บอกอย่าคิดว่าพวกสืบทอดอำนาจจะไม่กล้าทำ ทุกอย่างยึดเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง เมื่อไม่ได้ทำให้ตัวเองได้เปรียบย่อมสามารถที่จะพลิกลิ้นได้ตลอดเวลา กระนั้นก็ตาม ยังมีเสียงมาจาก ส.ว.ลากตั้งที่ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งคลุกคลีกับการเมืองมาโดยตลอดนับตั้งแต่สมัยยังอยู่ในเครื่องแบบ จึงมองการเมืองอย่างเข้าใจสภาพ โดยเห็นว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้นไม่น่าจะทำได้ง่าย

ส.ว.รายดังว่าก็คือ “เสธ.อู้” พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับขณะนี้กฎหมายที่รอการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภามีเป็นจำนวนมาก หากใครจะยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวต้องไปต่อท้ายคิว จึงคิดว่าเสร็จไม่ทันสมัยประชุมนี้แน่นอน สิ่งที่เป็นประเด็นจึงเป็นเพียงการโยนหินถามทาง เนื่องจากหากพิจารณาอย่างให้ละเอียดแล้วจะเห็นว่า บัตรใบเดียวหรือสองใบความได้เปรียบเสียเปรียบไม่ได้มากกว่ากันแต่อย่างใด

อย่างที่บอกว่า การกลับไปกลับมาของฝ่ายกุมอำนาจที่ว่าด้วยสูตรหาร 100 หรือ 500 ไม่ใช่แค่การจะทำให้มีการล้มกระดานเท่านั้น หากแต่เมื่อพิจารณาไปยังความได้เปรียบที่จะให้พรรคเล็กที่เคยเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจสำเร็จมาแล้วในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หนนี้สูตรหาร 500 ก็ไม่ได้เอื้อให้พรรคเล็กแต่อย่างใด เนื่องจากจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดจำนวนลงเหลือแค่ 100 คน ไม่ใช่ 150 คน ที่เคยได้คะแนนเสียงมา 3 หมื่นกว่าหรือไม่ถึงแล้วได้เก้าอี้ ส.ส. 1 คนนั้นมันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

เสธ.อู้ถึงกับการันตีว่า “ไม่มีใครทำหรอก ผมคิดว่ารัฐบาลคงไม่คิดทำด้วย” แต่ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาเสียงของ ส.ว.ลากตั้งประเภทเสธ.นั้น ฝ่ายสืบทอดอำนาจไม่ได้ให้ราคา คิดอยากจะทำแบบไหนเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ก็ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมทั้งนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่จะเป็นจริง คือ จะมีการยุบสภา 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะกฎกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้หากปล่อยให้ครบเทอมในวันที่ 24 มีนาคม 2566 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ส.ส.ไม่สามารถย้ายพรรคได้ทัน อย่างน้อยต้องยุบสภาก่อน 1-2 เดือน และพรรคสืบทอดอำนาจก็ต้องใช้พลังดูดนักเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมา ด้วยโจทย์ที่บังคับเช่นนี้จึงไม่อาจอยู่ครบเทอมได้

Back to top button