Zipmex พิสูจน์ฝีมือ ‘รื่นวดี’

บทสรุปสุดท้ายกรณี Zipmex จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตาม ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ ในยุคที่ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” นั่งเก้าอี้เลขาธิการก.ล.ต.


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อเวลา 9.00 น. ของวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา มีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่นัดรวมตัวกันเข้ามายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรณีได้รับความเสียหายจากบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทย

ในกรณีนี้แม้ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. จะออกมายืนยันว่าได้เข้าไปดูแลสั่งการให้ Zipmex ต้องปฏิบัติตามคำสั่งมาตั้งแต่รับทราบว่าบริษัทเริ่มมีปัญหา แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนไม่เห็นด้วย รู้สึกว่ามีความล่าช้าในการดำเนินการและไม่พอใจกับการทำงานของก.ล.ต.

ความไม่พอใจดังกล่าวสะท้อนผ่านข้อความแชท จากงานเสวนา หัวข้อ “1 อาทิตย์ กับ 1 วัน กับ Zipmex” ที่ก.ล.ต.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม โดยมีเลขาธิการก.ล.ต. พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันให้ข้อมูลและตอบคำถามผ่านช่องทางเพจของสำนักงานฯ ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา

ปัญหาของ Zipmex เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Zipmex ได้ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโทเคอร์เรนซีชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Zipmex Thailand ให้เหตุผลว่ามาจาก “ความผันผวนของตลาด เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท” จึงจำเป็นต้องระงับการถอนเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม

เหตุการณ์นี้ทำให้นักลงทุนต่างตื่นตระหนกและกังวลว่าจะต้องสูญเสียสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Zipmex ได้ฝากไว้กับผลิตภัณฑ์ หรือโปรแกรม ชื่อ ZipUp+ ของ Zipmex รวมทั้งไม่เชื่อมั่นต่อคำยืนยันของบริษัทที่ขอให้ลูกค้าอดทนรอเพราะกำลังเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์นี้จึงมีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้เสียหาย Zipmex Thailand” ได้ตัดสินใจนัดรวมตัวกันที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ในวันที่ 25 กรกฎาคม เพื่อดำเนินการแจ้งความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และนัดรวมตัวกันเพื่อเดินทางไปที่ก.ล.ต.

ฟากฝั่งก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้สั่งการให้ Zipmex ชี้แจงกรณีดังกล่าวพร้อมผลกระทบที่มีต่อลูกค้า โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้นำส่งข้อมูลต่อก.ล.ต.โดยเร็วต่อไป

ซึ่งต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม คณะกรรมการก.ล.ต.มีมติสั่งการให้ Zipmex Thailand เปิดให้ซื้อขายตามหลักเกณฑ์ Trading rules ของบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก.ล.ต. รวมทั้งเปิดให้ลูกค้าสามารถฝาก/ถอนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นการเพิ่มความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของลูกค้า และเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการของลูกค้าในการซื้อขาย หรือฝาก/ถอนสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้บริษัทดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบันมีการประเมินกันว่าน่าจะมีนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายเป็นหลักพันกว่าราย มีมูลค่าความเสียหายถึง 5 พันล้านบาท เพราะแค่ข้อมูลของบีบีซีไทย ณ เวลา 10.30 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ก็มีผู้ได้รับความเสียหายที่มากรอกแบบฟอร์มแจ้งข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบแล้ว 762 ราย ด้วยมูลค่ารวมเมื่อเทียบเท่ากับเงินบาทอยู่ที่ 662 ล้านบาทแล้ว

โดยเมื่อแยกตามชนิดของสินทรัพย์ดิจิทัล ณ วันปิดฝากถอนในวันที่ 20 กรกฎาคม พบว่า กว่า 50% เป็นผู้ถือครองเหรียญบิตคอยน์กว่า 50% ตามด้วยสกุลเงินดิจิทัลอีเทอเรียม 30%, USD Coin 10%, และเหรียญที่ออกโดยซิปเม็กซ์ 7%

ผู้เสียหายมากกว่า 80% ไม่ทราบมาก่อนว่า Zipmex มีการโอนเงินจากเทรด-วอลเล็ตไปยังซี-วอลเล็ต ซึ่งอาจไม่ได้รับความคุ้มครองจากก.ล.ต.

การแจ้งเกิดของ Zipmex เริ่มจาก “มาคัส ลิม” นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ และ “ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล” ผู้บริหารในสายงานบริษัทหลักทรัพย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท ซิปเม็กซ์ เอเซีย พีทีอี ลิมิเต็ด (Zipmex Asia Pte Ltd.) ขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามกระแสความนิยมของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรูปแบบ หลายสกุลเงินดิจิทัลบนกระดานเทรด โดยมีการดำเนินงานทั้งหมดใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

สำหรับบริษัทในไทย Zipmex Thailand มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 112 ล้านบาท มี ดร.เอกลาภ ถือหุ้นในสัดส่วน 51% จำนวน 3,161,999 หุ้น ขณะที่ Zipmex Asia Pte Ltd. ถือ 49% จำนวน 3,038,000 หุ้น ส่วน ลิม เหว่ย ซีออง มาร์คัส หรือ มาคัส ลิม ถือหุ้นจำนวน 1 หุ้น

Zipmex ดึงดูดเงินทุนจากผู้ลงทุนมหาศาล โดยในปี 2564 สามารถระดมทุนได้มากกว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 220 ล้านบาท จาก Jump Capital บริษัทการลงทุนสัญชาติอเมริกันที่มีบริษัทพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งรวมถึง TradingView ซอฟต์แวร์สร้างแผนภูมิบนคลาวด์ และซอฟต์แวร์โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับนักลงทุนมือใหม่และนักลงทุนระดับสูง

ในเดือนสิงหาคม 2564 บริษัท แพลนบี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) เข้าลงทุนใน Zipmex รวมกันราว 300 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนของแพลนบี ราว 50 ล้านบาท และมาสเตอร์แอด ราว 250 ล้านบาท

ในเดือนกันยายน 2564 บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือธนาคารกรุงศรีฯ ได้เข้าลงทุนใน Zipmex โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 1% เพื่อเป็นการศึกษาเทคโนโลยี ก่อนที่จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 3% ในปัจจุบัน จนถึงขณะนี้บริษัทสามารถระดมทุนเพื่อการขยายธุรกิจหรือ Series B จากพันธมิตรธุรกิจได้รวมกว่า 1,700 ล้านบาท

ปัญหาของ Zipmex เกิดจาก ZipUp+ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าจะฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไปยังบริษัท ซิปเม็กซ์ โกลบอล ที่สิงคโปร์ ซึ่งบริษัทนี้ได้นำสินทรัพย์ดิจิทัลไปลงทุนต่อกับบริษัท บาเบล ไฟแนนซ์ (Babel Finance) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง ที่ให้บริการสถาบันในตลาดการเงินคริปโทเคอร์เรนซีในฮ่องกง และอีกบริษัทคือ บริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มปล่อยกู้สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทกำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง

การจัดเสวนาของก.ล.ต.ล่าสุดถูกมองว่าล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ยิ่งขึ้น เมื่อก.ล.ต.ระบุว่าเพิ่งรับทราบข่าวจากสื่อ และได้สั่งการด่วนให้ Zipmex ชี้แจงรายละเอียดกรณีที่เว็บไซต์ของซิปเม็กซ์ กรุ๊ป (www.zipmex.com) มีการยื่นขอพักชำระหนี้ หรือ Moratorium relief ต่อศาลสิงคโปร์ สำหรับกิจการในกลุ่มของ Zipmex รวมทั้ง Zipmex ในประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่ได้มีการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม แต่เพิ่งมีการเปิดเผยเมื่อ 28 กรกฎาคม

ยิ่งมีการขุดคุ้ยรายชื่อผู้ถือหุ้นออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นตระกูลใหญ่ ๆ ยิ่งทำให้ก.ล.ต.ถูกจับตามอง ว่าเคสนี้จะปกป้องนักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน การจับมือบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพราะอาจมีความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก รวมถึงอาจมีการกระทำผิดตามกฎหมายอื่น ๆ นอกเหนือจากพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลด้วยหรือไม่นั้น ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนฝากความหวังกับก.ล.ต.มากขึ้นว่าความเสียหายจะได้รับการบรรเทา

ส่วนบทสรุปสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตาม ซึ่งนี่ก็คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ ในยุคที่ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” นั่งเก้าอี้เลขาธิการก.ล.ต.

Back to top button