สงครามครั้งใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ

การที่จีนมีตัวเลขถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง กลายเป็นประเด็นที่ส่งต่อการเมืองและตลาดเงินของโลกอย่างมีนัยสำคัญ


การที่จีนมีตัวเลขถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง กลายเป็นประเด็นที่ส่งต่อการเมืองและตลาดเงินของโลกอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าหลายคนจะมองว่าไกลตัวชาวบ้านเหลือเกิน แต่เรื่องไกลตัวนี่แหละจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นมาทันที หากว่าจีนบุกทางทหารต่อไต้หวันขึ้นมา

ในทางนโยบาย ทางการจีนที่ให้ธนาคารกลางทุ่มเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จนกระทั่งจีนกลายเป็นเจ้าหนี้ใหญ่อันดับสองของโลกต่อจากญี่ปุ่นมีความหมายโดยนัยหลายประการคือ

– การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินหยวนจีนที่ผูกติดกับค่าดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างตายตัวมีเสถียรภาพและแข็งค่าเกินจริงจนสหรัฐฯ ไม่กล้าประณามว่าจีนทำให้ค่าเงินหยวนต่ำเกินจริง

– ทำให้เฟดฯ หายใจคล่องมากขึ้นที่ค่าดอลลาร์ยังคงมีอิทธิพลต่อเงินตราในตลาดโลกอีกยาวนาน จากการที่นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวกำหนดทิศทางของกระแสไหลเวียนของทุนโลก

การที่จีนใช้นโยบายทุ่มซื้อทุนที่เป็นหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ (ในรูปพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา) ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มไม่มั่นคงสามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับโลกต่อไปได้อีกยาวนาน

การที่จีนลดการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลอเมริกันลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานับแต่ปลายปีก่อนจนถึงช่วงเดือน พค.ที่ผ่านมาจนเหลือเพียงมูลค่ารวมต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ทั้งที่น่าจะถือครองมากขึ้นในยามที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นที่จะทำให้จีนมีกำไรสูงขึ้น

ข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่าในเดือน พฤษภาคมนี้ จีนถือครองพันธบัตรแค่เพียง 9.808 แสนล้านดอลลาร์ หรือลดลงจากเมื่อเทียบกับเดือน เมษายน  2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ กับเดือน พฤษภาคมของปีที่แล้ว ลดลงเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 9%

แม้ทางการจีนจะอ้างเหตุผล “ทางเทคนิค” ว่า การลดถือครองมีสาเหตุจากดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงขึ้น หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งเพียงพอที่จะเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัว และเมื่อเกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงที่เกิดจากตัวเร่งอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน เฟดจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยมากและถี่ ทำให้พันธบัตรสหรัฐฯ มีความน่าสนใจลดลง และคำกล่าวอ้างที่เอาสีข้างเข้าถูว่า เป็นเพราะจีนต้องการปรับพอร์ตการลงทุนต่างประเทศให้หลากหลายขึ้น…ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย

การที่จีนได้เริ่มลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มาเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน เมื่อเทียบกับการที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BoJ) ซึ่งถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มากสุดอันดับ 1 ก็ได้ลดการถือครองในเดือน พฤษภาคมเช่นกัน เหลือ 1.212 ล้านล้านดอลลาร์ เกิดจากเหตุผลที่ญี่ปุ่นจำต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้เป็นขาขึ้น จากเดือน เมษายน ซึ่งอยู่ที่ 1.218 ล้านล้านดอลลาร์จากการถูกเงื่อนไขบังคับที่แตกต่างกับจีน

นักเล่นตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทราบกันดีว่าการปรับลดของญี่ปุ่น ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ การลดถือครองถูกมองว่าเป็นการบริหารจัดการการลงทุน แต่การที่จีนปรับเปลี่ยนด้วยเป็นเรื่องแปลกมาก

ตลาดเงินของโลกที่ดำรงอยู่บนฐานรากของอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามเหตุผล แต่อยู่บนจินตนาการทางการเมืองของธนาคารกลางของชาติมหาอำนาจมากกว่า ได้ถูกจีนนำไปอ้างอิงเป็นประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน และสหรัฐฯ ร่วมกับสหภาพยุโรปแซงก์ชั่นทางการเงินอย่างรุนแรงต่อรัสเซีย ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้ชาติอื่น ๆ ว่าจะถูกสหรัฐฯ เล่นงานด้วยมาตรการเดียวกัน

จีนจึงเชื่อมั่นว่า ต่อไปควรลดการถือครองสินทรัพย์ดอลลาร์ หรือลดการค้าขายด้วยเงินดอลลาร์ ขณะที่เงินหยวนถูกชูขึ้นมาเป็นทางเลือกแทนดอลลาร์

คืออย่าง โกลบอลไทมส์ ที่เป็นกระบอกเสียงไม่เป็นทางการของรัฐบาลจีน ฉวยเอาประเด็นนี้มาดิสเครดิตสหรัฐฯ โดยชี้ว่าเงินดอลลาร์กำลังสูญเสียแรงดึงดูดจากนักลงทุนต่างประเทศ การเล่นงานประเทศอื่นด้วยการแซงก์ชั่นทางการเงิน ทำให้หลายประเทศกลัวความเสี่ยงที่จะพึ่งพาดอลลาร์มากเกินไป

เพียงแต่ท่าทีของจีนนั้นได้แฝงด้วยปฏิบัติการเก็งกำไรค่าเงิน ควบคู่ไปด้วยอย่างแนบเนียนเพราะไม่ยอมเอ่ยถึงข่าวร้ายที่อาจจะส่งผลเสียต่อค่าเงินหยวนในอนาคต จากการที่จีนยังมีข่าวร้ายจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2565 นำสู่การล็อกดาวน์หลายเมืองในจีน ครั้งล่าสุด เช่น เมืองเซินเจิ้นที่เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนสินค้าเทคโนโลยี

หลายฝ่ายกังวลนโยบาย Zero-COVID ของจีนที่ต้องล็อกดาวน์หลายเมืองจะกระทบเศรษฐกิจจีน และกระทบโกลบอลซัพพลายเชนของสินค้าชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์จากเมืองที่เป็นแหล่งผลิตในจีน

ความเห็นอย่างระมัดระวังของ นายธนาคารกลางหลายแห่ง ที่บอกเตือนให้ทำการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ยังน่ากังวลและต้องติดตามใกล้ชิด เพราะโควิด-19 ยังระบาดหนัก ขณะที่จีนยังใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้จำเป็นต้องล็อกดาวน์ในบางเมือง

ผลของการระบาดระลอกใหม่ทำให้คาดกันว่าที่จีนตั้งเป้าเติบโตของจีดีพี ไว้ที่ ระดับค่อนข้างสูง 5.5% เป็นการคาดเดาเกินจริงเพราะตลาดเงินในฮ่องกงคาดหมายว่า จะขยายตัวได้แค่ 4% ต้น ๆ เท่านั้น ถือว่า จีดีพีจีนจะลดต่ำกว่าเป้าหมาย ลงมาเยอะมาก และตัวเลขจีดีพีที่ 4% ถ้าเทียบกับในยามปกติ ถือว่า ไม่ค่อยดี และโตได้ต่ำกว่าศักยภาพอยู่มาก

แม้จีดีพีของจีนจะพลาดเป้าค่อนข้างเยอะตามข่าวที่ยากจะแยกแยะได้  แต่ยังไงเสียก็ยังไม่ถือว่าติดลบ เพราะจีนยังมีช่องว่างให้เล่นเกมทางการเงินหลายทางอย่างไม่อับจน จากความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยังคงเป็นแรงเฉื่อยที่ส่งต่อไปได้เปิดช่องให้ทางการจีนสามารถใช้นโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้คล่องตัวกว่า

ความเชื่อมั่นของตลาดเงินจากการที่จีนจะทำสงครามเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ จนถึงขึ้นค่าเงินหยวนเซทรุด อาจจะเป็นข้อสรุปที่เร็วเกิน ขณะที่การผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล อาจจะกลายเป็นเป้าหมายหลอก มากกว่าเป็นเป้าหมายจริงก็เป็นไปได้และไม่ได้ในระยะอันสั้นนี้

การลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จึงต้องการความเข้าใจอย่างถ่องแท้ที่มากกว่าการเก็งค่าเงินข้ามสกุล

Back to top button