กำไรบจ. – เงินฝรั่ง หนุนหุ้นไทยแตะ 1,720 จุด

นักวิเคราะห์มองการขายทำกำไรอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์ในกรอบ 1,585-1,720 จุด


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่แสดงความคิดเห็นในเชิง Hawkish หรือเข้มงวด มากกว่าทุกครั้งในการประชุม Jackson Hole ได้สร้างความกังวลอีกครั้งให้กับนักลงทุนทั่วโลก โดยข้อความบางส่วนระบุว่า

“นี่เป็นราคาที่ต้องจ่าย เพื่อลดเงินเฟ้อลง แต่หากล้มเหลว ไม่สามารถฟื้นเสถียรภาพทางราคาได้ ความเจ็บปวดก็จะยิ่งมหาศาลกว่านี้”

ถึงตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินฟ้อ แต่ตลาดไม่คาดคิดถึงท่าทีในเชิง Hawkish มากขนาดนี้ เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยใน 2 รอบการประชุมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2523 และยังย้ำชัดอีกว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยลงจะมาในเวลาที่เหมาะสม หากแต่ไม่ใช่ช่วงเวลาอันใกล้นี้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบสนองด้วยการดิ่งลงกว่า 3% โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 1,008.38 จุด หรือ 3.03% ปิด 32,283.40 จุด ดัชนีเอส แอนด์ พี 500 ลง 141.46 จุด ลบ 3.37% ปิด 4,057.66 จุด และดัชนีแนสแด็ก ทรุด 497.56 จุด ตกไป 3.94% ปิด 12,141.71 จุด ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะแดงทั้งกระดานไม่แตกต่างกัน

แต่หากดูพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยที่เดินทางผ่านมาแล้ว 6 เดือนแรกของปี 2565 ที่โชว์ผ่านผลงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยสามารถสร้างยอดขายและผลกำไรเติบโตได้ ก็ถือว่ามีความแข็งแกร่งน่าพอใจในระดับหนึ่ง

ต้องยอมรับว่าบจ.ไทยต้องฟันฝ่ามรสุมปัจจัยลบกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันแพง ต้นทุนการผลิต-ขนส่งพุ่ง อัตราเงินเฟ้อโลกและไทยทำสถิติสูงสุด การใช้นโยบายการเงินเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก

แต่บจ.ไทยก็สามารถปรับตัวประคับประคองธุรกิจ บริหารจัดการลดต้นทุน และเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายภาครัฐตัดสินใจเปิดเมือง เปิดประเทศ ตลอดจนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง บจ.จึงฟื้นตัวได้ตาม

บจ.จำนวน 759 บริษัท คิดเป็น 96.7% จากทั้งหมด 785 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ.ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) รายงานผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2565 สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2565 ยังมีความสามารถในการทำกำไรสุทธิได้ถึง 586 บริษัท คิดเป็น 77.2% ของบจ.ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

หากแยกเป็นบจ.ใน SET มียอดขาย 8,605,952 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.1% จากงวด 6 เดือนแรกปี 2564 ที่ 6,142,795 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 596,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9% จาก 523,783 ล้านบาท

ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังโควิดตั้งแต่ต้นปี ช่วยผลักดันยอดขายให้เติบโตดีขึ้น เนื่องจากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตให้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และกระทบความสามารถในการทำกำไรด้วยเช่นกัน

บจ.ใน SET มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,078,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 1,078,048 ล้านบาท แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Core profit margin) และอัตรากำไรสุทธิปรับตัวลดลงมาที่ 12.5% และ 6.9% ตามลำดับ จากที่เคยทำได้ 13.2% และ 8.5% ตามลำดับ เป็นการลดลงราว 1-2% ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินของกิจการ ณ 30 มิถุนายน 2565 บจ.ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.59 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.53 เท่า เมื่อเทียบกับงวดปีก่อน ถือว่ามีหนี้สินเพิ่มขึ้นไม่มากและไม่น่าเป็นห่วง

ส่วนผลการดำเนินงานของบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 6 เดือนแรกปี 2565 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดขายรวม 99,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.8% จาก 80,694 ล้านบาท ต้นทุนขาย 79,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2% มีกำไรจากการดำเนินงาน 5,021 ล้านบาท ลดลง 3.6% จาก 5,210 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,275 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จาก 3,737 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจ อาหาร แฟชั่น และอุตสาหกรรมบริการ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคระบาด ขณะที่ทิศทางการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดอุปสงค์ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และทำให้กลุ่มธุรกิจธนาคารมีผลประกอบการดีขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ระบุว่า แม้นักลงทุนจะกังวลภาวะเงินเฟ้อ แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปเป็นราย Sector พบว่า มีกลุ่มที่เติบโตทั้งไตรมาสต่อไตรมาสและจากงวดเดียวกันปีก่อน คือ กลุ่มพลังงาน, ขนส่ง, อิเล็กทรอนิกส์, มีเดีย, อาหาร, แพ็กเกจจิ้ง, ธนาคารพาณิชย์, อสังหาริมทรัพย์, และ แฟชั่น เป็นต้น

พร้อมทั้งระบุว่าฝ่ายวิจัยอยู่ในช่วงทบทวนประมาณการกำไรทั้งปีนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำไรบจ.ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของประมาณการเดิมที่ประเมินไว้ที่ 1.04 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS ในปีนี้ 88.90 บาทต่อหุ้น เพราะการกลับมาเปิดประเทศหนุนกำไรให้กลับมาเติบโตได้

นอกจากนี้ เม็ดเงินต่างชาติตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ซื้อสุทธิหุ้นไทยไปแล้วเกือบ 1.7 แสนล้านบาท มากสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสถิติในอดีตชี้ให้เห็นว่า ปีไหนก็ตามที่ต่างชาติซื้อหุ้นไทยปริมาณมาก ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) มีโอกาสปรับตัวขึ้นเสมอ แม้ระหว่างทางจะมีการย่อตัวลงบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยภายในประเทศ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 แบ่งเป็นอัตราสูงสุด 356 บาท ต่ำสุดที่ 328 บาท เบื้องต้นคาดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งประเมินว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อบจ.มากนัก

สอดคล้องกับบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ที่มองว่าการขายทำกำไรอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่โดยภาพรวม ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์ในกรอบ 1,585-1,720 จุด

หลังตลาดหุ้นไทยสร้างสถิติดึงดูดเม็ดเงินฝรั่งได้มหาศาล ส่วนบจ.ไทยโชว์ศักยภาพกำไรเติบโตดีในช่วงครึ่งปีแรกมาแล้ว ก็หวังว่าช่วงที่เหลือปี 2565 นี้ จะไม่แผ่วลง

Back to top button