MAKRO (ยัง) ไม่พ้นวิบากกรรม

ชัดเจนจากฝ่ายบริหารแล้วว่า กำลังอยู่ระหว่างเสนอผู้ถือใหญ่ MAKRO เพื่อพิจารณาการเพิ่มสภาพคล่อง (Free Float) หุ้น MAKRO ให้เพิ่มเหนือ 15%


ชัดเจนจากฝ่ายบริหารแล้วว่า กำลังอยู่ระหว่างเสนอผู้ถือใหญ่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เพื่อพิจารณาการเพิ่มสภาพคล่อง (Free Float) หุ้น MAKRO ให้เพิ่มเหนือ 15% นั่นหมายถึงจำเป็นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ต้องตัดสินใจขายหุ้น MAKRO ออกมา เพื่อทำให้ MAKRO มีสภาพคล่องมากขึ้น และเป็นไปตามเกณฑ์ที่บริษัทต้องการเข้าสู่การคิดคำนวณดัชนี DJSI และการเป็นบริษัทที่ยั่งยืน

…แต่ต้องรอดูว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ MAKRO จะคิดเห็นเป็นประการใด.!?

ว่ากันว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ MAKRO ที่ว่านี้ก็คือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL นั่นเอง..

เมื่อดูจากรูปการณ์แล้ว CPALL อยากขายเต็มที่ แต่ปัญหาคือจะขายที่ราคาเท่าไหร่…แล้วใครกันจะอาจหาญมารับช่วงต่อ..ที่สำคัญราคาเพิ่มทุนครั้งก่อนที่ 43.50 บาท..มันค้ำคอหอย CPALL อยู่ว่าหากขายต่ำกว่า 43.50 บาท นั่นก็เท่ากับว่างบการเงินสั่นคลอนลงไปด้วย..

หนักไปกว่านั้น..ผู้ถือหุ้น MAKRO ที่มีต้นทุน 43.50 บาท (จากการเพิ่มทุนเมื่อต้นปี) เป็นต้องเดือดพล่านแน่..เพราะแค่ถืออยู่ขณะนี้ก็ขาดทุนหุ้นละ 9.75 บาท เข้าไปแล้ว..!!

หาก CPALL จะมีการขายหุ้นออกมาต่ำกว่านี้..ยิ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจขึ้นไปอีก..

โอเคแหละ..เรื่องเพิ่มฟรีโฟลต (ให้ได้ตามเกณฑ์) มันคือการสร้างโอกาสให้กับ MAKRO จะได้ขยับเข้าไปคำนวณในดัชนีสำคัญต่าง ๆ ของโลกอย่าง MSCI, FTSE และ SET50 ของไทย

เพราะนั่นหมายถึง..เป็นการเปิดรับ “นักลงทุนสถาบัน” ได้เข้ามาลงทุนหุ้น MAKRO มากขึ้น และสร้างเสถียรภาพราคาหุ้น MAKRO ได้เลยทีเดียว

ในเชิงปัจจัยพื้นฐานฝ่ายผู้บริหารเชื่อว่า “แนวโน้มธุรกิจค้าส่งกลุ่ม MAKRO ช่วงไตรมาส 3/65 เห็นการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงก.ค.-ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ยอดขายเติบโตแล้ว 10% และช่วงต้นก.ย.นี้ ยอดขายที่มาจากสาขาของ MAKRO เติบโตใกล้เคียง 10% จากกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ (ลูกค้าหลัก) เริ่มกลับมาเปิดธุรกิจตามปกติ”

แต่แรงกดดัน MAKRO นั่นคือค่าใช้จ่ายทั้งการ “รีแบรนดิ้ง” และการลงทุนเครือข่ายไอทีของ Lotus’s แถมต้นทุนทางการเงินจากหนี้สินกว่า 121,000 ล้านบาท (สกุลเงินดอลลาร์ 55%, สกุลเงินบาท 30% สกุลเงิน MYR 15%) ที่กดดันทำให้ตัวเลขกำไรไม่เฉิดฉายได้อย่างที่คิดไว้

อย่างไรก็ดีต้องเฝ้าระวังกันต่อว่ากลุ่มซีพี จะใช้บริการ MAKRO เป็นผู้ทำรายการซื้อ Metro อินเดียหรือไม่ หลังจากกลุ่มซีพี เสนอรคาสูงสุดกว่า 36,000 ล้านบาท (ชนะคู่แข่งแบบขาดลอย) เพราะหากเป็น MAKRO ขึ้นมาจริง ๆ คงต้องมานั่งไล่เรียงตัวเลขงบการเงินกันยกใหญ่

เพราะการได้มาของ Metro อินเดีย ต้องแลกด้วยภาระดอกเบี้ยจ่าย (จากหนี้ก้อนโต) ที่ต้องหักกลบลบหนี้ดูละว่า “กำไรที่ได้จาก Metro อินเดีย จะเพียงพอกับการชำระดอกเบี้ยแต่ละปีหรือใหม่..!?”

แม้สุดท้าย MAKRO แก้ปัญหาฟรีโฟลตได้ (ด้วยวิธีใดก็ตาม) แต่หากปัจจัยพื้นฐานยังไม่ชัดเจน การฟื้นตัวของหุ้น MAKRO ต้องรอกันไปอีกนาน (แสนนาน)..!!??

Back to top button