GPSC ม้านอกสายตา.?

ที่ผ่านมาเราจะรู้จัก GPSC ในฐานะผู้ผลิตโรงไฟฟ้า SPP ส่วนพลังงานทดแทนก็มีแหละ แต่ส่วนใหญ่จะไปในต่างประเทศมากกว่า


หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศระเบียบการจัดหาไฟฟ้าพลังงานทดแทน 5,203 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) รับซื้อ 335 เมกะวัตต์ 2) พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และ 4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนเกิดอาการชุ่มฉ่ำเหมือนสายฝนที่มาพร้อมกับพายุโนรูยังไงยังงั้น…

ซึ่งถูกหมายตาไว้หลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ของ “เสี่ยสารัชถ์ รัตนาวะดี” ที่เกี่ยวก้อยกับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ของ “เสี่ยกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์” ตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อว่า บริษัท กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จํากัด (Gulf Gunkul Corporation)…ด้วยฐานทุนที่ใหญ่บึ้บ ก็น่าจะเป็นตัวเก็งที่คว้าไปได้มากสุด

รองลงมาคงเป็นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ของ “เสี่ยสมโภชน์ อาหุนัย” ซึ่งคงหมายตาทั้งโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์ม แต่ที่น่าจะนอนมา เพราะดูมีภาษีเหนือกว่าใคร ก็คงเป็นโซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ 1,000 เมกะวัตต์ นี่แหละ

ส่วนบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ของ “เสี่ยจอมทรัพย์ โลจายะ” เจ้าพ่อไฟฟ้าจากแสงแดด เพราะปัจจุบันมีโซลาร์ฟาร์มมากที่สุดในประเทศไทย ก็คงไม่พลาดโอกาสนี้

ด้านบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP ของ “เสี่ยยุทธ ชินสุภัคกุล” ก็มีการลงทุนทั้งวินด์ฟาร์มและโซลาร์ฟาร์มเช่นกัน…ส่วนบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP ก็มองข้ามไม่ได้นะ รวมทั้งบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ที่หมายมั่นปั้นมือจะร่วมประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์มเหมือนกัน

แต่เอ๊ะ..!! มีอีกบริษัทหนึ่งที่หลายคนนึกไม่ถึงและอยู่นอกสายตา นั่นคือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทเรือธงด้านไฟฟ้าของกลุ่มปตท.

ที่ผ่านมาเราจะรู้จัก GPSC ในฐานะผู้ผลิตโรงไฟฟ้า SPP ส่วนพลังงานทดแทนก็มีแหละ แต่ส่วนใหญ่จะไปในต่างประเทศมากกว่า มีทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศอินเดีย กำลังการผลิต 1,897 เมกะวัตต์ (คิดตามสัดส่วนการลงทุนที่ 41.6%) และโครงการวินด์ฟาร์มในไต้หวัน กำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์

แต่เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา GPSC มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ มีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่เอี่ยมอ่อง 2 บริษัทด้วยกัน ได้แก่ บริษัท ยูรัสพลัส จำกัด (EurusPlus) และบริษัท โบรีพลัส จำกัด (BoreePlus) ด้วยทุนจดทะเบียนบริษัทละ 3.5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ชัดเจน เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย คาดว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้

ก็คงมุ่งหวังจะไปกว้านโปรเจกต์ทั้งที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแหละ…พอดูออก

แหม๊…มันช่างประจวบเหมาะกับไทม์ไลน์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะเปิดให้มีการยื่นเสนอขายไฟฟ้า พ.ย.-ธ.ค. 2565 พอดิบพอดีนะเนี่ย…ซึ่งถ้าดูจากการตระเตรียมความพร้อมของ GPSC แล้ว โอเค…แม้อยู่นอกสายตา แต่ก็ไม่ควรมองข้ามนะ…

ส่วนใครจะได้มากหรือน้อยแค่ไหน…อันนี้ไม่รู้จริงจริ๊งงง คงขึ้นอยู่กับบารมี เอ๊ะ..หรือจะเป็นบุญกรรมของแต่ละหุ้นละมั้ง..!!

แต่อย่าให้ต้องสาธยายมากไปกว่านี้เลย…ช่วงนี้เจ็บคอ..!!

…อิ อิ อิ…

Back to top button