กสทช. กับ พฤติกรรมแบล็กเมล

สภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของค่ายทรูกับ ดีแทค ด้วยท่าทีชัดเจนคือไม่เห็นด้วย อย่างถึงที่สุด


สภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของค่ายทรูกับดีแทค ด้วยท่าทีชัดเจนคือไม่เห็นด้วยอย่างถึงที่สุด แล้วก็ออกโรงย่ำจุดยืนไว้อย่างเหนียวแน่น จนถึงกับประกาศระดมสรรพกำลังเรียกร้องให้คนที่กลัวการผูกขาดธุรกิจน้อยราย (จาก 3 รายเหลือแค่ 2 ราย)……แต่กลับวางเฉยเมื่อมีการควบรวมธุรกิจอินเทอร์เน็ตจาก 4 ราย เหลือแค่ 2 ราย

เสียงเรียกร้องให้ร่วมกันต่อต้านดีลทรู-ดีแทค ทำให้กสทช.ที่มีนัดประชุมเพื่ออนุมัติการควบรวมดังกล่าวล่มไปถึง 2 ครั้งแล้ว อย่างไม่เป็นท่า ทั้งที่ข้อเรียกร้องดังกล่าวค่อนข้างมีการใช้ถ้อยคำซ้ำซาก และมีลักษณะแบล็กเมลมากกว่า…… สะท้อนถึงความไม่มีจุดยืนชัดเจนของกรรมการกสทช.บางคน

ขอให้มาพิจารณาข้อเรียกร้องของคุณสารี อ๋องสมหวัง ผู้ยิ่งใหญ่กันสักครั้ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวปรากฏอยู่ที่เอกสารรวบรวมรายชื่อผู้ที่ต้องการคัดค้านดีล

1) ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง ปัจจุบันในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่เพียง 3 บริษัทที่แข่งขันกันอยู่ ทั้งด้านการพัฒนาบริการใหม่ ๆ การขยายพื้นที่การบริการ รวมไปถึงการแข่งขัน ซึ่งมีการใช้งานทั้ง 3 บริษัทจะครองธุรกิจในตลาดประมาณร้อยละ 97 การลดจำนวนผู้ให้บริการจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ทำให้เหลือทางเลือกน้อยลง จากที่เคยมี 3 เจ้า เหลือเพียง 2 เจ้าเท่านั้น

2) ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น จากงานวิจัยพบว่า หากมีการควบรวมกิจการและเหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่เพียง 2 เจ้า แม้ว่าจะมีการแข่งขันกันตามกลไกตลาด จะส่งผลให้ค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 7–10% แต่หากไม่มีการแข่งขันกัน หรือตกลงแบ่งสัดส่วนผู้ใช้บริการ อาจทำให้เราต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นถึง 66–120% เช่น ค่าเฉลี่ยค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของคนทั่วไปอยู่ที่ 220 บาท/เดือน หากมีการควบรวมฯ เราจะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็น 235–480 บาท/เดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรคมนาคม 80 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าหากมีการควบรวมฯ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภครวมทั้งสิ้น 1,760–20,800 ล้านบาท

3) การควบรวมกิจการในครั้งนี้ อาจจะขัดต่อกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ คือ

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

2.กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

3.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

4.พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

4) การควบรวมอาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด หากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัทได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ กิจการภายใต้บริษัทดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 ซึ่งค่าดัชนีวัดระดับความมีประสิทธิภาพของการแข่งขันในตลาด (Herfindahl-Hirschman Index HHI) ที่เพิ่มสูงขึ้น

สองเจ้ากับสามเจ้าต่างกันเช่นไร หากเจ้าใดเจ้าหนึ่งต้องเจ๊งเพราะขาดทุนมากจนล้มเลิก คำถามคือ กิจการก็ต้องเหลือ 2 เจ้าอยู่แล้ว ที่สำคัญ “การจับมือกันของผู้แพ้” อาจจะหมายถึงความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ ที่มากกว่าการผูกขาด…จะหมายความว่าอย่างไร การตั้งคำถามแบบ “เออเอง ตอบเอง” เช่นว่านี้ เป็นการละเมอคิดด้วยจินตนาการมากกว่าข้อเท็จจริงใช่หรือไม่

5) การมีอำนาจเหนือตลาด นำไปสู่การผูกขาดโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดธุรกิจโทรคมนาคม ก็จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดบริการหรือผูกขาดโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ทั้งแบบมีสายและแบบไร้สาย ซึ่ง “ทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลที่สูงขึ้น ข้อมูลมีราคาแพง ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยอีกด้วย”

แล้วก็มีการเอ่ยอ้างถึงหลักการที่เรียกว่า HHI (Herfindahl-Hirschman Index) อย่างเลื่อนลอย โดยอ้างว่าผลของการเกิดขึ้นของดีลนี้ จะทำให้ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับมีการผูกขาดตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วยังไม่ใช่เช่นนั้นเลย

(ยังมีต่อ)

Back to top button