
จับตา “ซูเปอร์บอร์ด” กสทช. กลไกตรวจสอบที่สุ่มเสี่ยงล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น?
หลังจากวุฒิสภาเห็นชอบแต่งตั้งสมาชิก “ซูเปอร์บอร์ด กสทช.” ครบทุกด้าน ปรากฎว่า 3 ใน 5 รายมีสายสัมพันธ์กับ กสทช. มาก่อน จุดกระแสสังคมวิจารณ์และตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระ–ผลประโยชน์ทับซ้อน หลังบทบาทสำคัญคือถ่วงดุลการทำงานบอร์ดใหญ่ กสทช. โดยตรง
ประเด็นที่สังคมจับตามองในเวลานี้คือหนีไม่พ้นการสรรหา คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือที่หลายคนเรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของ กสทช. ทั้งในประเด็นการบริหารทรัพยากรคลื่นความถี่ การใช้งบประมาณ การกำกับดูแลกิจการ และการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทั้งรายงานผลต่อวุฒิสภา แต่ข้อถกเถียงเรื่องความเป็นอิสระของคณะกรรมการก็ยังกดดันให้ต้องจับตาว่าชุดนี้จะสามารถแสดงบทบาทถ่วงดุลได้จริงหรือไม่ในทางปฏิบัติ
แต่ปรากฎว่าการสรรหา “ซูเปอร์บอร์ด” ของวุฒิสภากลับถูกตั้งคำถามมากมาย เพราะรายชื่อที่ผ่านการพิจารณาให้เหลือ 10 คนสุดท้าย ก่อนที่จะคัดให้เหลือ 5 คนที่จะมาทำหน้าที่ กตป. หลายคนเรียกได้ว่ามีความคุ้นเคย และเกี่ยวข้องกับผู้บริหาร และคณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน ยกตัวอย่าง
งานด้านโทรทัศน์ ปรากฎชื่อ นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. (พล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร บอร์ด กสทช. ด้านกฎหมาย) , สิบตำรวจตรีหญิง เพ็ญนภา ชูพงษ์ เพิ่งลาออกจากผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. (พลอากาศโทดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ บอร์ด กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง)
งานด้านโทรคมนาคม ปรากฎชื่อ นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิประจำรักษาการเลขาธิการ กสทช. (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และ เลขาธิการ กสทช.) , รศ.อุรุยา วีสกุล ผู้รับสัญญาการจ้างที่ปรึกษากับสำนักงาน กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค
งานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ปรากฎชื่อ พลเอกสิทธิชัย มากกุญชร โฆษกประจำตัวประธาน กสทช. (ศ. คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) ปัจจุบันลาออกแล้ว
งานด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ปราฎชื่อ นางสาวอิสรารัศมิ์ เครือหงส์ ผู้ช่วยเลขานุการประจำ กสทช. (นายต่อพงศ์ เสลานนท์ บอร์ด กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
ขณะที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง รามสูต บอร์ด กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ , รองศาสตราจารย์ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย บอร์ด กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกัยพงศ์ บอร์ด กสทช. ไม่ได้ส่งคนใกล้ชิดหรือหน้าห้องเข้าลงสมัครชิงเก้าอี้ซุปเปอร์ในครั้งนี้
แม้ในขั้นตอนสุดท้ายบุคคลที่ผ่านการโหวตของ สว. ให้เหลือเพียง 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.ต. เอกธนัช ลิ้มสังกาศ (ด้านกระจายเสียง, 117 คะแนน), นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา (ด้านโทรทัศน์, 103 คะแนน), นางอุรุยา วีสกุล (ด้านโทรคมนาคม, 114 คะแนน), พล.อ. สิทธิชัย มากกุญชร (ด้านคุ้มครองผู้บริโภค, 105 คะแนน) และ น.ส. อิสรารัศมิ์ เครือหงส์ (ด้านส่งเสริมหรือเสรีภาพ, 100 คะแนน)
แต่รายชื่อดังกล่าวมีผู้ได้รับเลือกถึง 3 ใน 5 ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นอิสระและความขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) ว่าเป็น “ลูกหม้อ” หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับ กสทช. อาทิ นายพันธ์ศักดิ์ ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช., รศ.อุรุยา ผู้รับสัญญาการจ้างที่ปรึกษากับสำนักงาน กสทช. และ นางสาวอิสรารัศมิ์ ผู้ช่วยเลขานุการประจำ กสทช. จึงมีเสียงวิจารณ์ว่าซูเปอร์บอร์ดชุดนี้อาจเป็น “เสือกระดาษ” ที่ไม่สามารถตรวจสอบบอร์ด กสทช. ได้อย่างเข้มข้นจริงจัง
หากย้อนไปดูที่มาของ ซูเปอร์บอร์ด กสทช. หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.)” ถือเป็นกลไกตรวจสอบอิสระที่กฎหมาย พ.ร.บ. กสทช. พ.ศ. 2553 มาตรา 70 กำหนดให้มีขึ้นเพื่อเสริมการทำงานของ กสทช. โดยจะมีสมาชิก 5 คน จากแต่ละด้าน ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม คุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมสิทธิ–เสรีภาพประชาชน สมาชิกเหล่านี้มาจากกระบวนการสรรหาที่เสนอชื่อโดยแหล่งอิสระแล้ววุฒิสภาลงมติเลือก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ “คุมกฎ” ตรวจสอบระดับสูงว่าบอร์ด กสทช. ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย แผนแม่บท งบประมาณ และนโยบายหรือไม่
ขณะที่บทบาทสำคัญของซูเปอร์บอร์ดคือการทำหน้าที่เสมือนคณะกรรมการตรวจสอบภายในขององค์กรภาครัฐ ทำรายงานประจำปี เสนอวุฒิสภาและรัฐบาล ติดตามประเมินผลว่า กสทช. บริหารจัดการคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ ตรงตามเป้าหมาย เช่น การเปิดบริการ 4G – 5G การกำกับการแข่งขันในตลาด และการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ กปต. ยังมีอำนาจยื่นหนังสือทักท้วง กสทช. กรณีพบว่าอาจละเมิดบทบัญญัติตามกฎหมาย เช่นการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมใหญ่ ๆ เพื่อขอให้พิจารณาใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชนและการแข่งขันเสรี