ทิศทางอนาคต ปตท.

สนามบินสุวรรณภูมิกลับมาเนืองแน่นอีกครั้งหนึ่งแล้ว ไฟลต์บินของการบินไทยที่ค่อย ๆ เปิดบินในเส้นทางทำเงิน เต็มแน่นทุกเที่ยวบิน


สนามบินสุวรรณภูมิกลับมาเนืองแน่นอีกครั้งหนึ่งแล้ว ไฟลต์บินของการบินไทยที่ค่อย ๆ เปิดบินในเส้นทางทำเงิน เต็มแน่นทุกเที่ยวบิน

ไฟลต์ยุโรปของการบินไทย อันมีพอร์ตที่สำคัญอยู่ที่ลอนดอน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต เต็มแน่นทุกที่นั่งทั้งไทยและเทศแห่กันมาอุดหนุน เนื่องจากเปิดบินแค่วันละเที่ยว

ก็น่าดีใจ พอได้ลบภาพอาการ “บาดเจ็บ” ของการบินไทย ได้บ้างเนอะ

อากาศยุโรปตอนนี้กำลังดีระดับ 15-16 องศาเซลเซียส พอใส่เสื้อแจ็คเก็ตสวมทับสบาย ๆ ได้ไม่ถึงกับต้องใส่โค้ตหนา ๆ

ผมได้มีโอกาสร่วมทริปคณะผู้บริหารปตท. และสื่อมวลชนอาวุโส มาศึกษางาน “พลังงานแห่งอนาคต” รองรับวิสัยทัศน์ใหม่ ปตท. และการจัดการด้านความยั่งยืน ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ก็น่าสนใจอย่างมากเลยนะครับ เพราะพักหลังมานี้ก็ดูว่า ปตท.ขยายไลน์ธุรกิจเข้าไปในธุรกิจต่าง ๆ ที่นอกเหนือไปจากธุรกิจพลังงานที่พบเห็นเดิม ๆ กันมามากมายยิ่งขึ้น

ปตท.รุกเข้าไปในธุรกิจอาหาร รุกเข้าไปในธุรกิจการแพทย์ทั้งด้านการรักษาโรค และเครื่องมือทางการแพทย์ รุกเข้าไปในธุรกิจ EV หรือ รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งโรงงานแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟ และ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล กับรถบัสขนส่ง

รวมทั้งทุ่มเทการศึกษาค้นคว้านวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตรวมทั้งการตั้งเป้าหมายการลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ค.ศ. 2040 และตั้งเป้า “เซต ซีโร่ คาร์บอน”  ปี ค.ศ. 2050 ให้คาร์บอนหมดไปเป็น 0 เลยในอีก 28 ปีข้างหน้า

นี่มันอะไรกันเนี่ย! ปตท.ที่เคยทำมาหากินกับการใช้พลังงานจากฟอสซิลมาช้านานจะปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่สะอาดหรือ “โก กรีน” ขึ้น โดยมีเป้าหมายชัดเจนทั้งในปี ค.ศ. 2040 และ ค.ศ. 2050

นี่คือ เป้าหมายอันท้าทายยิ่ง

จากปี 2544 ที่ปตท.แปรรูปรัฐวิสาหกิจและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาจนถึงปี 2564 ในรอบ 20 ปี เริ่มด้วยมูลค่าทางการตลาดแค่ 3 หมื่นล้านบาท ก่อนเข้าตลาด กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน คิดดูซิว่าเติบใหญ่แค่ไหน

ในรอบ 20 ปี การนำส่งรายได้เข้ารัฐถึง 1.07 ล้านล้านบาท

ปตท. วางตำแหน่งตัวเองเป็น “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ใหญ่ แตกบริษัทลูกออกไปถึง 6 บริษัทอันได้แก่ ปตท.สผ., ปตท. โกลบอล เคมิคอล หรือ GC, ไทยออยล์, IRPC, GPSC โรงไฟฟ้า และ ปตท. OR ซึ่งมิได้เป็นเพียงบริษัทค้าน้ำมัน แต่รุกเข้าไปใน พรมแดนการค้าปลีก ทั้งธุรกิจ อาหาร และอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย

มาเที่ยวนี้ “ผู้ว่าฯ โด่ง”  อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. จัดเต็มรับบลิฟกันตั้งแต่วันแรก เรื่อง “พลังงานอนาคต รองรับวิสัยทัศน์ใหม่ ปตท. และการจัดการด้านความยั่งยืน” กันเลยทีเดียว

แค่การเดินทาง 2 วันแรก ก็เข้มขันแล้วเริ่มต้นด้วย ซีอีโอปตท.พูดถึงความฝันและความจริงในหัวข้อ ที่เป็นภาษาอังกฤษดูจะครอบคลุมกว่าชื่อว่า  Powering Life with future energy and beyond”

คำว่า “ฟิวเจอร์เอนเนอร์จี” ก็คงจะค่อย ๆ เริ่มเห็นกันชัดเจนบ้างแล้ว คือการมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด เช่น พลังงานทางเลือกต่าง ๆ ทั้งสายลมและแสงแดด และ น้ำ การปรับธุรกิจยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้โลกเพี้ยน มาเป็นไฟฟ้าที่สะอาดและขจัดมลพิษตัวการใหญ่ อย่างสิ้นเชิง

แต่เรื่อง “บียอนด์” หรือ สิ่งที่นอกเหนือไปกว่าที่ธรรมเนียมปฏิบัติเก่า ๆ เป็นสิ่งที่ต้องสนใจใฝ่หาความรู้และเป็นสิ่งที่ครอบคลุมไปถึงศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะทำให้โลกสะอาดขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษยชาติ

เพื่อเป้าหมายสิ่งนี้ในยุโรปเวลานี้กำลังตื่นตัวกันทั้งแผ่นดินในเรื่องของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ การนำเทคโนโลยี มาใช้ทางการแพทย์ และการตอบสนองในชีวิตประจำวันต่าง ๆ

เดี๋ยวนี้ มีการใช้ “หุ่นยนต์” มาช่วยผ่าตัดคนไข้มากขึ้น แทนจะพึ่งฝีมือแพทย์อย่างเดียวก็ใช้หุ่นยนต์ ที่สั่งการโดย “โปรแกรมเมอร์” ซึ่งอาจจะมีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากกว่าในการปฏิบัติงาน

เราได้เห็นความตื่นตัว ในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างมากที่ มหาวิทยาลัยสตาร์สบูร์ก ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมากถึงขั้น มหาวิทยาลัยร่วมมือกับองค์กรเอกชนภายนอกรวมทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) ย่างสอดประสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน

ปตท.บริษัทรัฐวิสาหกิจใหญ่ที่สุด ของไทยมีความพร้อมแล้วระดับหนึ่งที่จะปรับเปลี่ยนแบบแผนธุรกิจดั้งเดิมให้ทันสมัย และสร้าง พลังงานสะอาด

พร้อมกันนี้ยังเตรียมตัวเข้าสู่ สิ่งที่เรียกว่า “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์จี แอนด์ บียอนด์ และ อื่น ๆ”

ทั้งการแพทย์ ยารักษาโรค และ หุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่เห็นกันมาแล้ว

คงจะได้เห็นย่างก้าวสู่อนาคตที่มั่นคงและทันสมัยทัดเทียมโลกเหมือนกับก้าวย่างในอดีตที่ผ่านมา

Back to top button