MORE (ราชาเงินทุน) รีเทิร์น.!?

จากวิกฤตการณ์การซื้อชายหุ้น MORE ด้วย “บัญชีเงินสด” ของบริษัทหลักทรัพย์ จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ 11 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท


จากวิกฤตการณ์การซื้อชายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ด้วย “บัญชีเงินสด” (Cash Account) ของบริษัทหลักทรัพย์ จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ 11 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท และขยายวงไปสู่การนำเงินไปชำระเป็นค่าซื้อหุ้น MORE ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด (AWS) เป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้ปิดกิจการชั่วคราว และนายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต้องประกาศลาออกไป..

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้..ถูกตั้งข้อสังเกตว่า..นี่คือขบวนการรวมหัว “การปล้นโบรกเกอร์” หรือไม่..!?

นั่นจึงทำให้นึกย้อนไปเมื่อ 43 ปีที่แล้ว..กรณีบริษัท ราชาเงินทุน จำกัด ที่ว่ากันว่า “ปล้นเงินแบงก์..เพื่อมาปั่นหุ้นตัวเอง” อันอื้อฉาว จนกลายเป็นวิกฤตตลาดหุ้นครั้งแรก ช่วงปี 2521-2522 หลังตลาดหุ้นไทยถือกำนิดขึ้นมาได้แค่เพียง 2-3 ปี

บริษัท ราชาเงินทุน จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ที่มีรูปแบบธุรกิจการเงิน อาทิ การรับฝากเงินผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินและการปล่อยสินเชื่อ นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2520 ผ่านการเพิ่มทุน 1,920 ล้านบาท ด้วยราคาไอพีโอหุ้นละ 275 บาท

หลังเข้าตลาดฯ เพียงแค่ 1 ปีราคาหุ้น “ราชาเงินทุน” ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 2,470 บาท ภายใต้กระบวนการปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทในเครือและลูกค้าตัวเองโดยไม่มีหลักประกัน  เพื่อวัตถุประสงค์นำไปใช้เก็งกำไรในตลาดหุ้น และหนึ่งในนั้นคือ “หุ้นราชาเงินทุน” ด้วยเช่นกัน

นัยว่า “ราชาเงินทุน” ปล่อยเงินกู้ เพื่อให้นักลงทุนนำเงินไปซื้อ “หุ้นราชาเงินทุน” นั่นเอง..!!!

หนักไปกว่านั้น “ราชาเงินทุน” มีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา..และทำการปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทลูกนั้น ๆ เพื่อให้นำเงินกู้ดังกล่าวย้อนกลับมาซื้อหุ้นบริษัทตัวเอง (หุ้นราชาเงินทุน) โดยตรงอีกทีหนึ่ง..

กลเกมครั้งนั้น..ทำให้นักลงทุนหลงเชื่อและเข้าใจผิดคิดว่า “ราชาเงินทุน” มียอดการปล่อยสินเชื่อที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเชื่อว่าผลประกอบการจะต้องเติบโตตามไปด้วย..ยิ่งพากันเข้าซื้อเก็งกำไร “หุ้นราชาเงินทุน” มากขึ้นไปอีก หารู้ไม่ว่าได้ติดกับดัก “เกมปั่นหุ้นราชาเงินทุน” ไปแล้ว…

สำหรับเม็ดเงินที่ “ราชาเงินทุน” นำมาปล่อยกู้ให้บริษัทลูก ๆ และนักลงทุนเพื่อนำมาซื้อหุ้นบริษัทตัวเอง นอกเหนือจากเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน (ไอพีโอ) แล้ว..ปรากฏว่า “ราชาเงินทุน” มีการกู้ยืมจากธนาคารต่าง ๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วย เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เดียวกันคือนำมา “ปั่นหุ้นราชาเงินทุน”..!!!

หรือจะเรียกว่า “ไฟแนนซ์ปล้นแบงก์” เพื่อปั่นหุ้นตัวเอง..ก็ว่าได้

แต่พฤติกรรม “ปล้นแบงก์มาปั่นหุ้น ”เสพสุขกันได้ไม่นาน..ช่วงเดือน มี.ค. 2522 “ราชาเงินทุน” เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคาร สถาบันการเงินและลูกค้าผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของราชาเงินทุน เรียกร้องให้บริษัทชำระคืนมากขึ้น

และช่วงเดือน เม.ย. 2522 เช็คที่บริษัทสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้บางฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ยิ่งให้ราชาเงินทุน ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดการแพนิกแห่ถอนเงินเกิดขึ้นตามมา จนทำให้พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยนั้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ เพื่อเข้าควบคุม “ราชาเงินทุน” และต่อมาได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท ราชาเงินทุน จำกัด และนายเสรี ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการบริษัท ถูกจับดำเนินคดีไปด้วย

“วิกฤตราชาเงินทุน” ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อลูกค้าบริษัทและตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุกลามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อสถาบันการเงิน จนมีการขอไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินก่อนกำหนด เป็นผลทำให้ฐานะการเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว

จนทำให้รัฐบาล ต้องออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งช่วยเสริมสภาพคล่อง การลดอัตรามาร์จิ้น เพื่อฟื้นฟูตลาดหลักทรัพย์ฯ และนั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของ “กองทุนพัฒนาตลาดทุน” เช่นเดียวกับสมาคมธนาคารไทย ที่มีการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องการเงินให้แก่สมาชิกด้วยเช่นกัน

แม้ว่ากรณีหุ้น MORE จะก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหาย ไม่มากเท่ากรณี “ราชาเงินทุน” แต่พฤติกรรมการอาศัยช่องว่าง ช่องโหว่ของตลาดหุ้น เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไม่ได้ลดทอนลง เพียงแค่วิธีการที่มันเปลี่ยนแปลงผันแปรไปตามยุคสมัยเท่านั้นเอง..!!??

Back to top button