Virtual Bank โลกใหม่การเงินดิจิทัล

ADVANC เตรียมเข้าสู่ธุรกิจใหม่จัดตั้ง Virtual Bank ดำเนินธุรกิจการเงินดิจิทัล เมื่อทุกอย่างชัดเจน จะยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งต่อไป


จากข่าวสารว่าด้วยเรื่องบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ตระเตรียมเข้าสู่ธุรกิจใหม่จัดตั้ง Virtual Bank (ธนาคารเสมือนจริง) เพื่อการดำเนินธุรกิจการเงินดิจิทัล อาทิ การให้บริการสินเชื่อ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) และธุรกรรมดิจิทัลอื่น ๆ ล่าสุดรอเพียงเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อทุกอย่างชัดเจน จะยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ต่อไป

ด้วยความที่ ADVANC เป็นยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารโทรคมนาคมของไทย นั่นยิ่งทำให้ Virtual Bank มีความน่าสนใจมากขึ้น..!!

สำหรับนิยามของ Virtual Bank ​​​​​ธปท.ให้ความหมายว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบมีลักษณะสำคัญคือไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขาและตู้ ATM แต่จัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้, ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ตลอดกระบวนการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงินจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่นการให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน โดยลูกค้าสามารถใช้บริการสอบถามหรือร้องเรียนการให้บริการ Virtual Bank ได้

ที่ผ่านมาหลายประเทศ มีการออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank และดำเนินธุรกิจแล้ว เช่น บราซิล สหราชอาณาจักร มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ โดยผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจในต่างประเทศ เช่น บัญชีเงินฝากที่ไม่มีสมุดคู่ฝากและดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าบัญชีเงินฝากทั่วไป มี AI ช่วยประมวลผลพฤติกรรมแนะนำการออม และการใช้จ่ายให้เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้ฝาก

มีบริการสินเชื่อที่ผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้และได้รับอนุมัติอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีบริการเพื่อ SMEs อย่างบริการเชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์และระบบการออกใบแจ้งหนี้แบบดิจิทัลเพื่อช่วยให้ SMEs รายย่อยสามารถบริหารการเงินได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

โดยบราซิล Nubank ผู้ริเริ่มธนาคารพาณิชย์ไร้สาขารายแรก ๆ มีเงินทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (49,500 ล้านบาท) มีลูกค้า 35 ล้านคน เริ่มจากการให้บริการบัตรเครดิตที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมและคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ รวมถึงมีการออกแบบแอปพลิเคชันให้ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว และขยายการให้บริการด้านอื่น ๆ ทั้งบัญชีเงินฝากดิจิทัล บัตรเดบิต และสินเชื่อส่วนบุคคล

ส่วนสหราชอาณาจักร Starling Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาแห่งแรก มีฐานลูกค้ากว่า 2.7 ล้านคน ให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนทั่วไป โดยมีการ Customize ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่เหมาะกับผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม ช่วยให้ผู้ใช้บริการจัดการบัญชีเงินฝากของตนเองผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ

ขณะที่เกาหลีใต้ Kakao Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาใหญ่สุดในเกาหลีใต้ มีจำนวนลูกค้ากว่า 17 ล้านคน และมีผู้ใช้งานถึง 11 ล้านคนต่อเดือน โดยมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจาก Kakao Talk ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันคล้ายกับ LINE ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ Kakao Bank ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลาย โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่า ให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม

สำหรับจีน WeBank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขากลุ่ม Tencent ผู้ให้บริการ WeChat ปัจจุบัน WeBank สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 100 ล้านคน โดยต่อยอดธุรกิจจากการที่มีฐานลูกค้าเดิมเป็นจำนวนมาก สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า มาประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ทำให้ Virtual Bank ในจีนประสบความสำเร็จอย่างมาก

จากกรณี ADVANC การรุกเข้าสู่ Virtual Bank ถือเป็นการต่อยอดระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem) จากธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่ความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลลูกค้า ทั้งข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลด้านพฤติกรรม ที่จะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

ว่าแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ออกมาเมื่อใด.? หลังมีการปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง Virtual Bank ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่าบรรดาธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการรายใหญ่ น่าจะพร้อมแล้วกับธุรกิจใหม่นี้..!??

Back to top button